“จุรินทร์” สั่งเร่งติดตามต้นทุนราคาสินค้า

153

business highlight online : 11 กุมภาพันธ์ 2566 รมว.พาณิชย์ สั่งให้กรมการค้าภายในติดตามต้นทุนราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคโดยรวม หลังต้นทุนทั้งพลังงาน ไฟฟ้า เงินเฟ้อลดลงจะทำให้สินค้าบางกลุ่มลดลง ช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ขณะที่กรมการค้าภายในรับลูกดูแลต้นทุนทุกด้านใกล้ชิด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามภาวะราคาสินค้าทุกรายการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ผลิตทุกรายการสินค้าไปปรับลดราคาลงให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งการติดตามดังกล่าวเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงในช่วงที่ผ่านมา ที่สำคัญหากดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของไทยถือว่าลดลงมามากและอย่างต่อเนื่องและถือว่าดีกว่าหลายประเทศในโลก แม้ขณะนี้ภาคเอกชนยังแบกรับภาระต้นทุนที่สูงอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าสินค้าอุปโภคและบริโภคโดยรวมยังสามารถปรับลดลงมาได้บ้างด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ในระหว่างวันที่ 12-14 ก.พ.นี้ ที่เขตพระโขนง กระทรวงพาณิชย์จะเปิดจุดจำหน่ายสินค้าราคาถูกตาม โครงการ พาณิชย์…ลดราคา! Grand Sale ทั่วไทย Lot 21 เป็นครั้งที่ 5 นำสินค้าอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายรวมกว่า 1,000 รายการ ลดสูงสุด 75% และยังมีการจำหน่ายสินค้าไฮไลท์ในราคาพิเศษทุกวัน โดยสินค้าราคาถูก คุณภาพดี 7 รายการ ประกอบด้วย เนื้อหมู กก.ละ 150 บาท เนื้อไก่ กก.ละ 55 บาท น้ำตาลทราย ถุงละ 18 บาท น้ำมันปาล์มขวดละ 43 บาท ไข่ไก่ ถาดละ 90 บาท ข้าวหอมมะลิ ถุง 5 กก.ถุงละ 100 บาท ข้าวขาว ถุงละ 80 บาท นอกจากนี้ยังมีสินค้าอุปโภคบริโภค 10 หมวด 1,000 รายการ ลดสูงสุด 60% โดยประชาชนที่สนใจสามารถเลือกซื้อสินค้าภายในงานได้

ด้าน ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า ขณะนี้ กรมการค้าภายในได้ติดตามแนวโน้มราคาสินค้าและบริการอย่างใกล้ชิดจากกรณีที่น้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง เพื่อให้ราคาจำหน่ายสอดคล้องกับต้นทุนโดยติดตามปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตทุกปัจจัย ไม่เฉพาะปัจจัยด้านราคาน้ำมัน สำหรับปัจจัยราคาน้ำมันตลาดโลกที่ถูกลงขณะนี้ส่งผลให้ราคาจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง บางรายการ อาทิ เหล็กเส้น ภายในประเทศปรับลดราคาลงแล้ว โดยราคาเหล็กเส้น ในเดือน ม.ค.2566 ปรับลดลงตันละ 2,000 บาท เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปี 2565 คือปรับจากตันละ 25,000 บาท มาอยู่ที่ 23,000 บาท

ส่วนกรณีที่ วันที่ 15 ก.พ.66 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจะปรับลดลง อีก 50 สตางค์/ลิตร เหลือ 34.50บาท/ลิตร ตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) นั้น ราคาน้ำมันดีเซลที่จะปรับลดลง 50 ส.ต. ถือว่าเป็นการบรรเทาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง แต่ราคาที่ 34.50 บาท/ลิตร ยังคงอยู่ในระดับที่สูงอยู่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร โดยล่าสุดผู้ประกอบการแพลตฟอร์มที่ให้บริการขนส่งให้ความร่วมมือ โดยราคาค่าขนส่งเหล่านี้ปรับเปลี่ยนตามโปรโมชั่นของแต่ละแพลตฟอร์ม และยังอยู่ในระดับราคาที่ไม่สูงมากจนเกินไป

Advertisement