business highlight online : 6 กรกฎาคม 2566 กกพ.แถลงค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.66 ) ลดลงกว่า 20 สตางค์/หน่วย จากต้นทุนก๊าซลดลง แหล่งเอราวัณผลิตได้เพิ่มขึ้น พร้อมกับใช้หนี้ กฟผ.ตามแผน 5 งวดที่เหลือ ด้านเอกชนเสนอให้ใช้หนี้ กฟผ. 6 งวด ชี้ค่าไฟควรลดลง 45 สตางค์/หน่วย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จะมีการแถลงข่าว และการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft ) และข้อเสนอทางเลือกเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นประกอบการพิจารณาเพื่อประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ในวันพรุ่งนี้ (ศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2566) โดยมีรายงานข่าวว่า ราคาจะลดลงกว่า 20 สตางค์ต่อหน่วย โดยเป็นเหตุผลจากแหล่งก๊าซเอราวัณผลิตได้เพิ่มขึ้น การใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จึงลดลง ในขณะที่ราคาแอลเอ็นจีตลาดโลกก็ปรับลดลงด้วย พร้อมๆกับการใช้หนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ที่รับภาระต้นทุนค่าไฟให้ประชาชนไปก่อนราว 1.5 แสนล้านบาท และมีการใช้หนี้ 2 งวดเอฟที (ม.ค.-ส.ค.66 ) ไปแล้วรวม 3 หมื่นล้านบาท เหลือหนี้ 1.2 แสนล้านบาท ที่จะต้องชำระภายใน 5 งวดเอฟที (ก.ย.66-เม.ย.68 ) ดังนั้น งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 ก็จะชำระราว 2.4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม กกพ.อาจมีการเสนอ 3 ทางเลือกเพื่อให้ประชาชนเลือกโดยมีทั้งลดค่าไฟฟ้าหรือตรึงค่าไฟต่อไป
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ได้แสดงความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้าและชี้ว่าหากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่า Ft แล้ว พบว่า มีปัจจัยบวกให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้กว่า 10% จากงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค. 66) และคาดว่าไม่ควรเกิน 4.25 บาท/หน่วย จากเดิม 4.70 บาท/หน่วย เนื่องจาก
1) ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลบ.ฟุต/วัน ในเดือน ก.ค. และเพิ่มเป็น 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในเดือนธันวาคมนี้
2) ปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ลดลง
3) ราคา LNG Spot ลดลงมากกว่า 30%
4) ราคาพลังงานโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
5) ภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ลดลงเร็วกว่าแผนด้วยต้นทุนจริง LNG ต่ำกว่าที่เรียกเก็บ Ft แม้ว่าค่าเงินบาทจะยังอ่อนค่าในระดับ 35 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม กกร. จึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐในการพิจารณา ค่า Ft งวด 3/2566 (ก.ย. – ธ.ค.) ดังนี้
1) ขอให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. จาก 5 งวดที่เหลือ เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่า Ft ลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่ง กฟผ. จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือนสิงหาคม 2568
2) ขอให้มีการบูรณาการในการจัดหาเชื้อเพลิง LNG โดยมอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียว (One Team) ในการจัดหาเพื่อเป็นการสกัด Demand เทียมจาก Shipper หลายรายที่เข้าจัดหาในตลาด สำหรับนำมาผลิตไฟฟ้าในงวดที่ 3/2566 เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด และไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ โดยจัดหาในราคาเฉลี่ย LNG ในช่วง 14-16 เหรียญต่อล้านบีทียู ซึ่ง กกร. มีความกังวลว่าหากเข้าสู่ฤดูหนาวจะทำให้ราคา LNG ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในโลกโดย กกร. จะมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการต่อไปเร็วๆนี้
Advertisement