นายกสมาคมฟินเทคฯ ชี้ กทม.เหมาะสม “Fintech Hub”

63

business highlight online : 23 กรกฎาคม 2566 นายกสมาคมฟินเทคฯ เผย กทม. เหมาะสมก้าวสู่ “ Fintech Hub” ชี้โครงสร้างการเงินแข็งแกร่ง-คนไทยพร้อม-ศูนย์กลางภูมิภาค-วัฒนธรรมหลากหลาย เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ ให้ “คลัง-ดีอี” เป็นเจ้าภาพ พร้อมร่วมขับเคลื่อน

นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทค ประเทศไทย กล่าวในการแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “บริการทางการเงินในโลกยุคฟินเทค และความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านฟินเทค” ในโครงการ “พัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ (พศส.) ประจำปี 2566” ว่าจากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าคนไทยใช้ Digital payment มากขึ้น 5 เท่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) จาก 63 ครั้งต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 312 ครั้งต่อคนต่อปี ซึ่งบริการเหล่านี้เป็นที่คุ้นเคยในปัจจุบัน ทั้งพร้อมเพย์ และ QR Code ที่เชื่อมโยงบริการการชำระเงินกับ 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ขณะที่ปี 2565 คนไทยใช้ Digital payment เพิ่มขึ้นเป็น 425 ครั้งต่อคนต่อปี และล่าสุด 5 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้นเป็น 473 ครั้งต่อคนต่อปี

ดังนั้น โลกยุคฟินเทค คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการเงินมากขึ้น เห็นด้วยกับการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) แต่มองว่าที่ ธปท. กำหนดในระยะเริ่มต้น 3 ราย ควรขยายออกไปเป็น 5 ราย หรือเปิดเสรีแบบประเทศอังกฤษ เนื่องจากเมื่อมีผู้เล่นมากขึ้น ประชาชนจะได้ประโยชน์ แต่ก็ต้องมีการควบคุมคุณภาพตามหลักเกณฑ์

นอกจากนี้สามารถจัดทำระบบที่มีการแชร์ข้อมูลการเงิน เพื่อให้ผู้ใช้สะดวกขึ้น เช่น แอปฯ สรุปยอดหนี้บัตรเครดิตทุกค่ายในแอปฯ เดียว แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้ หรือการใช้ระบบ Payment ที่กำหนดเงื่อนไขการจ่ายได้

นายชลเดช ยังมองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ได้เปรียบกว่าเมืองอื่นในเอเชีย ในการก้าวสู่ Fintech Hub เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินที่แข็งแกร่ง ตลาดทุนมีสภาพคล่องสูง และบริษัทจดทะเบียนมีการบริหารเพื่อความยั่งยืน, คนไทยมีความพร้อมใช้บริการด้าน Fintech, ทำเลที่ตั้งของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค, มีความหลากหลายของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์รองรับทั้งการทำงานและการพักผ่อน และคนไทยมีนิสัยเข้ากับคนง่าย ประสานได้กับทุกผ่าย

ทั้งนี้ การจะผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็น Fintech Hub นั้น ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการเข้ามาตั้งสำนักงานและประกอบธุรกิจของบริษัท Fintech จากนานาชาติ เริ่มตั้งแต่การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแบบ Online One-stop Service ที่รวดเร็วและรองรับภาษาอังกฤษ การเปิดบัญชีธนาคารแบบ Online สำหรับนิติบุคคล ความสะดวกและข้อจำกัดที่น้อยลงสำหรับการจ้างงานชาวต่างชาติ บริการที่ปรึกษาด้านบัญชี กฎหมาย และใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ในกรุงเทพฯ หรือกลุ่มอาคาร หรือถนนให้เป็น Fintech Hub หรือ Fintech Street ในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อดึงดูดบริษัทด้าน Fintech และใช้เป็น Sandbox Zone สำหรับทดลองให้บริการด้านการเงินใหม่ มหาวิทยาลัยควรร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อออกแบบหลักสูตรหรือวิชาสำหรับสร้างบุคลากรด้าน Fintech

นอกจากนี้ทุกภาคส่วนควรช่วยกันสนับสนุนด้านเงินลงทุน การให้ทุน สิทธิประโยชน์ด้านภาษี คำปรึกษา และความช่วยเหลืออื่นๆ สำหรับบริษัทด้าน Fintech ที่เป็นธรรม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารโครงการดังกล่าวไปยังกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากบริษัทด้าน Fintech จากนานาชาติมาตั้งสำนักงานในไทยได้ ประเทศจะได้ประโยชน์จากทั้งเม็ดเงินลงทุน การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ไทยจะกลายเป็นแหล่งรวมของบุคลากรชั้นนำด้าน Fintech สร้างคนรุ่นใหม่ในประเทศขึ้นมาเป็น Fintech Talent ในระดับโลก และในระยะยาวบริการด้าน Fintech ใหม่ๆ จะช่วยให้ประเทศปัญหาที่สำคัญได้ เช่น หนี้สินภาคครัวเรือน หนี้นอกระบบ ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง ความไม่พร้อมสำหรับการเกษียณ เป็นต้น ประโยชน์จากการเป็น Fintech Hub นี้จะมีส่วนช่วยสำคัญต่อทั้งนวัตกรรมทางการเงินและการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน

“หน่วยงานหลักที่ควรเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อน คือ กระทรวงกสารคลัง หรือกระทรวงดีอี เพราะต้องมีการประสานกับทั้งภาครัฐและเอกชนในไทยและต่างประเทศ ซึ่งทางสมาคมฯ พร้อมจะนำเสนอโครงการ Fintech Hub ต่อรัฐบาลใหม่ และพร้อมจะประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ” นายชลเดช กล่าว

Advertisement