business highlight online : 27 กรกฎาคม 2566 MEA คาดการใช้ไฟฟ้าปีนี้ กลับมาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 เร่งเดินหน้า Go Smart, Go Digital และ Go Green ขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ยอมรับหวั่นจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าอาจกระทบงบฯ ปี 67
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ในแต่ละปี MEA มีงบลงทุนฯราว 2 หมื่นล้านบาท ที่ต้องขออนุมัติจาก ครม. ซึ่งหากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ก็อาจะทำให้โครงการลงทุนปี 67 จะได้งบฯล่าช้าไปด้วย ส่วนโครงการปี 66 ทุกอย่างเดินหน้าตามแผนงานทุกด้าน และจากเศรษฐกิจขยายตัว นักท่องเที่ยวกลับคืนมา ก็ทำให้คาดว่า ปีนี้ ยอดใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ MEA ดูแล คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ความต้องการใช้ ไฟฟ้าเทียบกับปีที่แล้วจะขยายตัวร้อยละ 1 โดยจะมีการใช้ไฟฟ้าเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 คือประมาณ 5 หมื่นล้านหน่วย หรือ ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด ราว 9 พันเมกะวัตต์ และในอนาคตคาดยอดใช้ไฟฟ้ายังเติบโตตามแผนงานคือ ขยายตัวร้อยละ 13 ในปี 2573 หรือ ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด จะอยู่ที่ 12,000 เมกะวัตต์ รองรับการเติบโตของรถไฟฟ้าระบบรางที่มีเพิ่มขึ้น และรถอีวี ที่ภาครัฐคาดว่าจะมีราว 3 ล้านคันในปี 2573 จากปัจจุบันมีประมาณ 5 หมื่นคัน
ทั้งนี้ ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา MEA ครบรอบ 65 ปี ในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 MEA ได้จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ “65th MEA SPARK the Sustainable Future” จุดประกายอนาคตที่ยั่งยืน โดยเปิดให้ผู้ร่วมงานสามารถร่วมบริจาคเงินให้กับ 2 มูลนิธิ คือ สหทัยมูลนิธิ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก นอกจากนี้ยังมีการเสนอผลการดำเนินงานจากการขับเคลื่อนองค์กรโดยยึดหลัก Tripple Go for Goal ใน 3 ด้าน คือ Go Smart, Go Digital และ Go Green ภายใต้วิสัยทัศน์ Energy for city life, Energize smart living ในการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
ด้าน GO Smart คือ การพัฒนาระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเสริมความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า เช่น Smart Metro Grid ที่ปัจจุบัน MEA ได้ติดตั้ง Smart Meter รวมจำนวน 33,265 ชุด ทำให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ Online ช่วยในด้านการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า วิเคราะห์จุดเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง โดยภายในปี 2570 จะติดตั้ง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 441,400 ชุด รวมถึงยังมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับหม้อแปลงจำหน่าย ภายใต้โครงการ TLM (Transformer Load Monitoring) ช่วยในการวางแผนขยายหรือปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้า โดยภายในปี 2570 จะติดตั้งแล้วเสร็จครบทั้งพื้นที่ MEA ที่มีจำนวน 62,400 ชุด
MEA ยังดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โดยเฉพาะในเส้นทางการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ซึ่งจะมีแผนงานที่สำเร็จเพิ่มมากขึ้นในปี 2566 จะมีเส้นทางที่แล้วเสร็จเพิ่มเติม 29 กิโลเมตร รวมเป็น 91 กิโลเมตร ขณะเดียวกัน MEA ยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินให้แล้วเสร็จรวมทั้งสิ้น 236.1 กิโลเมตร ภายในปี 2570 และมีแผนที่จะดำเนินการในอนาคตอีก 1,140.8 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้นเป็น 1,454.3 กิโลเมตร
ด้าน Go Digital นั้น MEA ได้ยกระดับไปสู่การเป็น Fully Digital Service มีการพัฒนาการให้บริการผ่านออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ระบบ Tracking บริการทางธุรกรรมออนไลน์ของ MEA ผ่าน MEASY มีการพัฒนาบริการหนังสือค้ำ-ประกันอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยีบล็อกเชน (eLG on Blockchain) อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบ EV Data Roaming ทำให้ MEA EV Application สามารถแชร์ข้อมูลกับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งในฟังก์ชันการค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการจ่ายค่าบริการ
ด้าน Go Green สนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) มีการออกแบบระบบ Smart Charging เพื่อลดปัญหาการเกิด Overload รวมถึงล่าสุด ได้เปิดตัว MEA EV Super Charge เครื่องอัดประจุไฟฟ้า 120 kW ที่พร้อมรองรับการเชื่อมต่อกับระบบ Solar PV และ Battery Storage ณ บริเวณอาคาร วัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย รองรับผู้ใช้บริการใจกลางเมืองมหานคร
Advertisement