นายกฯประกาศแก้หนี้นอกระบบ เป็นวาระแห่งชาติ เชื่อหากเศรษฐกิจดี ประชาชนไม่กลับเป็นหนี้ซ้ำ

139

Business Highlight Online : 28 พฤศจิกายน 2566 ทำเนียบรัฐบาล – นายกฯ ประกาศแก้หนี้นอกระบบ เป็นวาระแห่งชาติ ขจัดการค้าทาสยุคใหม่ จับมือ มท.-คลัง-ตำรวจ แก้หนี้ครบวงจร ยันไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ แต่มั่นใจหากเศรษฐกิจดี ประชาชนไม่กลับเป็นหนี้ซ้ำ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวาระแห่งชาติ ว่า รัฐบาลมองเห็นปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาของประเทศอย่างยาวนาน รัฐบาลเอาจริงกับปัญหายกให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่และสร้างความมั่นคงให้ประชาชน โดยรัฐบาลได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายตำรวจ นอกจากการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รัฐบาลก็จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงเศรษฐกิจมหภาค

ทั้งนี้ ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคม โดยรัฐบาลประเมินจำนวนหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าตัวเลขสูงกว่าที่ประเมินกว่านี้ ส่วนเหตุผลที่ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้นอกระบบ เนื่องจากเป็นปัญหาที่กระทบกับคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งประชาชนรากฐานของประเทศต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินที่ไม่สามารถใช้หนี้ให้หมดได้ ปิดกั้นความฝันและโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตนมองว่า หนี้นอกระบบคือ การค้าทาสรูปแบบใหม่

“ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าที่จะไม่มีภาครัฐเข้ามาเป็นตัวกลางแก้ไขปัญหา ทั้งนี้รัฐบาลจึงบูรณาการหลายภาคส่วนทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปในวงจรหนี้นอกระบบอีก โดยรัฐบาลจะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ ดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ตนกระบวนการจนปิดหนี้ โดยต้องจัดให้มีการทำสัญญาเงินกู้หนี้ตามกฎหมาย เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสในการดำเนินชีวิตและพอเพียงกับการเลี้ยงชีพ โดยตนได้สั่งการตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ย. ให้กระทรวงมหาดไทยและตำรวจไปศึกษาปัญหาหนี้นอกระบบและประสานการทำงานอย่างบูรณาการในการแก้ปัญหา พร้อมจัดทำฐานข้อมูลกลางในการสร้างความโปร่งใส และมีการสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่าหลังการไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้แล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ทั้งเงื่อนไขเวลาและกระบวนการ  โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถในการใช้หนี้และไม่กระทบกับการใช้ชีวิต

“การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในครั้งนี้ ไม่ใช่ทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่ตนมั่นใจว่าด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น จนไม่ต้องกลับไปกู้หนี้อีกในอนาคต แล้วเพิ่มโอกาสให้ประชาชนรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้มากขึ้น เพื่อให้โครงการนี้ปลดปล่อยประชาชนออกจากหนี้นอกระบบ ลืมชีวิตที่ลำบาก” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า วันที่ 12 ธ.ค. รัฐบาลจะมีการแถลงเรื่องหนี้ภาพรวมแบบครบวงจร ซึ่งจะครอบคุมทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ

ด้าน นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยเปิดระบบลงทะเบียนให้ลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบตั้งแต่ 1 ธ.ค. 66 เป็นต้นไป ควบคู่กับการเปิดให้ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือแก้หนี้นอกระบบ ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบทั่วประเทศ และประชาชนสามารถลงทะเบียนด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th หากไม่สามารถดำเนินการได้เองทางระบบออนไลน์ดังกล่าว หรือสามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเอง กรณีอยู่ในพื้นที่อำเภอให้ลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ และหากอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ลงทะเบียนที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนหรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากหนี้นอกระบบ ได้ทันที จึงขอให้จังหวัดดำเนินการ ดังนี้

1.ให้จังหวัดและอำเภอดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้แล้วเสร็จและให้รายงานกระทรวงมหาดไทยทราบทันที โดยกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนตามที่เห็นสมควร

2.ประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์รับการช่วยเหลือหรือให้ทางราชการดำเนินการแก้ไขปัญหา ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 โดยให้ดำเนินการ ดังนี้

2.1 ลูกหนี้นอกระบบลงทะเบียนด้วยตนเอง สามารถลงทะเบียนผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) ตามที่กระทรวงมหาดไทยประชาสัมพันธ์

2.2 ลูกหนี้นอกระบบที่ไม่สามารถดำเนินการเองตามข้อ 2.1 ได้ ในส่วนภูมิภาคให้ติดต่อ ที่ว่าการอำเภอ ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ สำหรับกรุงเทพมหานครติดต่อสำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วน 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

3.เร่งรัดให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอดำเนินการให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้นอกระบบที่ได้แจ้งเรื่องร้องเรียนไว้แล้ว โดยให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

4.แจ้งให้จังหวัด/อำเภอ มอบหมายเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบและให้คำปรึกษาเรื่องหนี้นอกระบบ เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ทันที

5.ให้รายงานผลการลงทะเบียนของลูกหนี้นอกระบบที่ขอรับความช่วยเหลือให้กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ทราบ ตามแบบฟอร์มการรายงานผลการลงทะเบียนของลูกหนี้นอกระบบเป็นประจำทุกเดือน

ด้าน พล.ต.อ.ธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการกำหนดแผนปฏิบัติสำรวจข้อมูลในพื้นที่เพื่อค้นหาเป้าหมายและสั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร 1-9 ทำการตรวจสอบพื้นที่และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด นำมาจัดกลุ่มในระดับ S M L เพื่อพิจารณาดำเนินการ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีพฤติกรรมความรุนแรงในการทวงหนี้ โดยมีสายด่วน 1599 รับแจ้งเหตุ ซึ่งที่ผ่านมา มีผลการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบันจำนวน 134 ราย ยึดรถและของกลางจำนวน 22 คัน รถจักรยานยนต์จำนวน 19 คัน รวม 8 ล้านบาท มีการจับกุมเครือข่ายหนี้นอกระบบรายใหญ่อีกหลายกลุ่ม

Advertisement