Business Highlight Online : 2 ธันวาคม 2566 กระทรวงพาณิชย์เร่งสร้างสัมพันธ์ทางการค้า เพื่อพัฒนายกระดับเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเปิด กระทรวงต้อนรับผู้แทนสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC) และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจ และการพาณิชย์ (EABC) จำนวน 39 ราย จาก 24 บริษัท หารือในประเด็นต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมการประกอบธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากยุโรป
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวภายหลังหารือกับคณะนักธุรกิจจาก EU-ABC และ EABC ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของยุโรป ที่ประกอบธุรกิจในอาเซียนและในไทย เช่น แอร์บัส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มิชลิน ฟรีซแลนด์-คัมพีน่า ดีเอชแอล พรูเดนเชียล โนวาร์ตีส โดยได้ชี้แจงนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ของไทยแก่นักธุรกิจยุโรป แลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนนโยบายของไทย โดยเฉพาะการเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและภาคเอกชนยุโรป
นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนในการเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับ สหภาพยุโรป หรืออียู ที่มีเป้าหมายสรุปการเจรจาให้ได้ภายในปี 2568 เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนระหว่าง ไทยและอียูอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงแผนที่จะทบทวนและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจการลงทุน และรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก และเห็นว่าในการปฏิบัติตามกฎระเบียบการค้าใหม่ ๆ ทุกประเทศและทุกฝ่ายควรดำเนินการร่วมกันอย่างฉันท์มิตร คำนึงถึงข้อเท็จจริง และระดับความแตกต่าง มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติตาม และระยะเวลาการปรับตัวของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ตนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ-เอกชน รวมถึงเอกชน-เอกชนในส่วนผู้แทนภาคธุรกิจของฝั่งยุโรปได้แสดงความยินดีที่ FTA ไทย–อียู กลับมาเจรจาอีกครั้ง โดยพร้อมสนับสนุนและผลักดันให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ภาคเอกชนและยังได้หยิบยกประเด็นการค้าอื่น ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การควบคุมราคาสินค้า พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ขึ้นหารือกับกระทรวงพาณิชย์ โดยได้รับทราบนโยบายและข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจและวางแผนการค้าการลงทุนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในด้านการค้าอียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยและอียูมีการค้าระหว่างกันรวม 35,013.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,206,685.59 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.96 เเละมีสัดส่วนการค้ารวมคิดเป็นร้อยละ 7.30 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออก 18,247.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (624,969.91 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 4.42 และไทยนำเข้า 16,765.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (581,715.68 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 9.94 ไทยได้เปรียบดุลการค้า 1,482.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (43,254.23 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม และเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ซึ่งไทยตั้งเป้าสรุปผลการเจรจา FTA ไทย-อียู ภายใน 2 ปี (ปี 2568)
Advertisement