นายกฯ กดดัน กนง.เร่งประชุมด่วนลดดอกเบี้ย

89

Business Highlight Online : 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายกฯ กดดัน กนง.เร่งประชุมลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขอลดอย่างต่ำหนึ่งสลึง ด้าน นักวิเคราะห์ประเมินหากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น เฟดยังไม่ลดดอกเบี้ย บาทจะอ่อนค่าแตะ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ  โดยตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่าระดับต้นๆ ของเอเชีย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์) เมื่อคืนวันที่ 19 ก.พ. เรียกร้องคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เรียกประชุมเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาการลดดอกเบี้ย โดยไม่ต้องคอยถึงการประชุมตามกำหนด หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจากการรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ บ่งบอกถึงสถานะของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะ Critical stage ซึ่งเลขาธิการสภาพัฒน์เอง ก็เห็นด้วยกับการที่ควรต้องปรับลดดอกเบี้ย

“อยากขอวิงวอนให้ กนง.เรียกประชุมคณะกรรมการฯ เป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาการลดดอกเบี้ย โดยไม่ต้องคอยถึงการประชุมที่ Scheduled ไว้” นายกรัฐมนตรี ระบุ

ทั้งนี้  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อย่างเป็นทางการครั้งถัดไป จะมีขึ้นในวันที่ 10 เม.ย.67 ขณะที่วานนี้ (19 ก.พ.) สภาพัฒน์แถลง GDP ไตรมาส 4/66 เติบโตได้เพียง 1.7% และทั้งปี 66 เติบโต 1.9%

นายเศรษฐา ระบุวานนี้ จากตัวเลขที่สภาพัฒน์ระบุจะเห็นชัดว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์นั้นต้องยอมรับว่ายังไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้าไปในระบบ ซึ่งตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามายังไม่สามารถใช้เงินงบประมาณได้ ทำให้ทุกกระทรวงใช้นโยบายของแต่ละกระทรวงเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยรัฐบาลได้พยายามดำเนินทุกมาตรการที่สามารถทำได้ ซึ่งมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลย คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ยังไม่ได้มีการปรับลดลง ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% หากลดลงเหลือ 2.25% หรือเพียงสลึงเดียว ก็จะช่วยบรรเทาภาระของประชาชนได้ทุกคน  ซึ่งสอดคล้องกับเลขาธิการสภาพัฒน์ระบุว่าได้คุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าถึงเวลาที่จะต้องลดดอกเบี้ยลง

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หลายนโยบายที่รัฐบาลทำ อาจต้องใช้เวลา รวมไปถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตด้วย ซึ่งหากทุกคนเห็นด้วยและพิสูจน์ได้ว่าจะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น ก็จะพยายามทำออกมาให้เร็วที่สุด อยากจะให้เกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม ส่วนนโยบายอื่นก็พยายามดำเนินการอยู่

ด้านเงินบาทเช้านี้ปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.10-36.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.50 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์  ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า sentiment ของเงินบาทยังโน้มไปในด้านอ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วน เนื่องจากตลาดกลับมารอติดตามบันทึกการประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดที่จะเปิดเผยออกมาช่วงกลางสัปดาห์นี้  ซึ่งจากที่เฟดคาดว่าจะลดดอกเบี้ยรอบแรกเดือนมิถุนายนนี้ ล่าช้ากว่าคาดการณ์  เงินดอลาร์สหรัฐแข็งค่าถึง 3 % ก็กดดันเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอ่อนค่าลง 5.5 % อ่อนค่าอันดับต้นๆ รองจากญี่ปุ่นที่เงินเยนอ่อนค่าลง 6%

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ ระดับ 36.00-36.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ การเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนหลังธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ระยะ 5 ปีลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566 โดย PBOC มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 5 ปีลง 0.25% สู่ระดับ 3.95% จะช่วยลดภาระให้กับภาคครัวเรือนและจะช่วยกระตุ้นการซื้อบ้านในจีนให้ปรับตัวสูงขึ้นด้วยขณะเดียวกัน PBOC ได้คงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีเอาไว้ที่ระดับ 3.45%

“จากโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยที่ ไม่แข็งแรง และเฟดชะลอลดดอกเบี้ยอาจลดรอบแรก มิ.ย.นี้   ดังนั้น ช่วงที่เหลือของปีนี้ แน้วโน้มเงินบาทจะอ่อนค่า หากยังฟื้นเศรษฐกิจไม่ได้  เฟดไม่ลดดอกเบี้ยอาจจะเห็นเงินบาทอ่อน 37 บาท /ดอลลาร์ ซึ่งผู้นำเข้าต้องระมัดระวัง” น.ส.กาญจนาระบุ

Advertisement