สบน. แจง เฟคนิวส์ในโซเชียล เผยกำลังศึกษาข้อดี-ข้อเสียกู้เงิน ตปท.เสนอคลัง ส่วน 22 ก.พ.นี้ออกพันธบัตรออมทรัพย์งวดแรก 4 หมื่นล้าน

106

Business Highlight Online : 20 กุมภาพันธ์ 2567 กระทรวงการคลัง – สบน.ระบุ เฟคนิวส์ ทุบเศรษฐกิจไทย คลังเตรียมสรุปแผนออกพันธบัตรขายต่างชาติ 1 พันล้าน USA หวังสร้างดอกเบี้ยอ้างอิงให้เอกชนไทย เผยออกพันธบัตรออมทรัพย์งวดแรก 4 หมื่นล้านบาท มี.ค.นี้

นายพชร  อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวยืนยันว่า การแชร์ข้อความตามโชเชียลระบุว่า  “การโจมตีค่าเงินบาท ครั้งที่ 2 เริ่มแล้ว โดยการขายพันธบัตรรัฐบาล 1,000 ล้าน USA โดยประเทศไทยเตรียมหลายบริษัท ที่มีปัญหาหุ้นกู้ออกไประดมทุน”  เป็นเฟคนิวส์ และได้ทำหนังสือแจ้งไปยังตำรวจ DSI แล้ว

นายพชร ชี้แจงว่า สำหรับแผนการออกพันธบัตรในต่างประเทศ หลังจากประเทศไทยไม่ได้ออกพันธบัตรกู้เงินจากต่างประเทศนานกว่า 20 ปี  เพราะอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกต่ำ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีเดินทางพูดในหลายเวทีทั่วโลก ต้องการออกไประดมทุนในต่างประเทศนั้น การกู้เงินต่างประเทศมีทั้งข้อดี และข้อเสีย  ในส่วนข้อดี เป็นการสร้างดอกเบี้ยอ้างอิงให้กับภาคเอกชนไทย ที่มีความพร้อมต้องการไปออกหุ้นกู้ในต่างประเทศ  โดยไม่ต้องแย่งสภาพคล่องในประเทศ  เมื่อรัฐบาลออกไปกู้เงิน จะเป็นหัวขบวนให้เอกชนไทยใช้เป็นดอกเบี้ยอ้างอิง กู้เงินต่างประเทศมากขึ้น

ในส่วนข้อเสีย ยอมรับว่า ยังมีความเสี่ยง หากกู้เงินในประเทศด้วยแนวโน้มดอกเบี้ยคงที่หรือลดลง หากกู้เงินต่างประเทศดอกเบี้ยสูง อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้น สร้างภาระสูงขึ้น  สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ จึงต้องศึกษาข้อดี  ข้อเสีย ให้รอบคอบกำหนดกรอบ 500-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  เตรียมสรุปแนวทางทั้งหมดในช่วงเดือนมีนาคมนี้ เพื่อเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาตัดสินใจ  กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรต่างประเทศหรือไม่  ยอมรับว่า เมื่อส่งสัญญาณออกไป องค์กร หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เข้ามาสอบถามเป็นจำนวนมาก ทั้ง ADB, JICA  รัฐบาลไทยยังได้รับการคงอันดับเครดิต จากทุกองค์กรระหว่างประเทศ ในอันดับ BBB+ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ส่วนการปรับแผนกู้เงินใหม่ในปี 2567 วงเงิน 754,710 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐบาลกู้เงิน 603,211 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 128,199 ล้านบาท หน่วยงานอื่นของรัฐ 23,000 ล้านบาท นับว่าเป็นการกู้เงินเพิ่มจากแผนเดิม 650,276 ล้านบาท  ครม.ไม่ได้อนุมัติกรอบเงินกู้รองรับโครงการดิจิทัลวอเล็ต แต่เป็นการกู้เงินจากการขาดดุลงบประมาณและรัฐวิสาหกิจตามแผนเดิม  แต่วงเงินใกล้เคียงกับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท จึงเกิดการตีความว่าเตรียมกรอบวงเงินรองรับการกู้เงินใหม่ ซึ่งต้องออก พ.ร.บ.กู้เงินเพิ่มอีกฉบับ

นายพชรกล่าวเพิ่มเติมว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแถลงแผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป 22 ก.พ. 67 นี้ จากกรอบทั้งหมด  1 แสนล้านบาท งวดแรก 40,000 ล้านบาท อายุ 5-10 ปี เพื่อให้ประชาชนทั่วไปซื้อพันธบัตร โดยเฉพาะการซื้อผ่าน  App เป๋าตัง คาดว่าจะออกขายได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้

Advertisement