คาดเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 67

305

Business Highlight Online : 11 พฤษภาคม 2567 เวทีประชุม ผู้ว่าฯ ADB คาดเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 67 ใช้เงินกองทุน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มุ่งช่วยเหลือประเทศสมาชิก ห่วงราคาสินค้า ค่าขนส่งพุ่ง ค่าเงินทั่วโลกผันผวน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะผู้ว่าการสำรองชั่วคราวของไทยในธนาคารพัฒนาเอเชีย เข้าร่วมการประชุม ผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ครั้งที่ 57 ช่วงต้นสัปดาห์นี้ ณ กรุงทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 จะขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2567 และร้อยละ 4.2 ในปี 2568 ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนและการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 จะเติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลก และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถึงร้อยละ 45 ในปี 2567 – 2573 สำหรับปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้น ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกและค่าขนส่งที่พุ่งสูงขึ้น ความผันผวนของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในระยะกลาง – ยาว ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และสังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าและมอบหมายนโยบายด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินในกรอบอาเซียน+3 ได้แก่ ทิศทางการดำเนินการในอนาคตของโครงสร้างความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาค การเสริมสร้างประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี การจัดหาเงินทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การดำเนินการของ AMRO มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย และข้อริเริ่มภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3

ที่ประชุม Business Session หารือ ภายใต้แนวคิด “Bridge to the Future” ในการพัฒนาการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค รวมถึงได้มีการเรียกร้องให้ ADB ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก ซึ่งต้องการความช่วยเหลือทางการเงินแบบให้เปล่า (Grants) อย่างทั่วถึง ADB โดยประเทศสมาชิก รวมถึงประเทศไทย แสดงเจตจำนง บริจาคเงินเพิ่มทุนในกองทุนพัฒนาเอเชีย 14 (Asian Development Fund 14: ADF 14) ขนาดกองทุนสูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วงเวลาดำเนินการระหว่างปี 2568 – 2571

ที่ประชุมมุ่งเน้นแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรมซึ่งนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่างระมัดระวังและเท่าเทียมเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุม การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศที่ยากจนที่สุดและมีความเปราะบาง โดยการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ครั้งต่อไป กำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2568 ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งผู้ว่าการของไทย เตรียมเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ Procedures Committee ด้วย

Advertisement