CPF ยืนยันไม่ใช่ต้นตอการระบาด “ปลาหมอคางดำ” แจงนำเข้าตั้งแตปี 53 แต่ทำลายซากปลาตามมาตรฐานไปแล้ว

113

Business Highlight Online : 17 กรกฎาคม 2567 CPF ยืนยันไม่ใช่ต้นตอการระบาด “ปลาหมอคางดำ” แจงนำเข้าปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ปี 2553 แต่ทำลายซากปลาตามมาตรฐาน พร้อมส่งตัวอย่างให้กรมประมงตั้งแต่ปี 2554 ยืนยันไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาด

เอกสารที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ชี้แจงต่อหน่วยงานภาครัฐ ระบุว่า ในปี 2553 บริษัทได้นำเข้าปลา จำนวน 2,000 ตัว ซึ่งพบว่ามีปลาสุขภาพไม่แข็งแรงและมีการตายจำนวนมากในระหว่างทาง ทำให้เหลือปลาที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแอ เพียง 600 ตัว ซึ่งได้รับการตรวจสอบ ณ ด่านกักกันโดยกรมประมง ทั้งนี้ เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงมีการตายต่อเนื่องจนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัยในเรื่องนี้ โดยมีการทำลายซากปลาตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลา ซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดไปยังกรมประมงในปี 2554

นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ คณะผู้ตรวจเยี่ยมจากกรมประมง เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของบริษัท ณ จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขอข้อมูลจำนวนลูกปลาหมอคางดำที่นำเข้าเมื่อปี 2553 และการบริหารจัดการ ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้รายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมฟาร์มอีกครั้ง ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้ชี้แจงถึงวิธีการทำลายปลาทั้งหมด โดยใช้สารคลอรีนเข้มข้นและฝังกลบซากปลาโรยด้วยปูนขาว และยืนยันว่าไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดดังกล่าว

ทางบริษัท ขอรับรองว่า ได้ดำเนินการและปฏิบัติตามกฎระเบียบ ตลอดระยะเวลาการนำเข้าและการเตรียมตัวอย่างวิจัยในฟาร์มอย่างเคร่งครัด ก่อนทำลายปลาทั้งหมดตามข้อกำหนดของกรมประมง รวมถึงมีการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบใดๆ กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรัดกุม ตามข้อกำหนดของคณะกรรมการด้ายความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง พร้อมทั้งยินดีให้ความร่วมมือในการร่วมแก้ปัญหา และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชนที่มีการระบาดของปลาดังกล่าว

Advertisement