กระทรวง ดีอี เผย 5 เคส “โจรออนไลน์” หลอกลวงประชาชน ระหว่าง 1 – 4 สิงหาคม 67

78

Business Highlight Online : 5 สิงหาคม 2567 AOC 1441 เตือนภัย “โจรออนไลน์” หลอกทำภารกิจรีวิวเสื้อผ้าเด็ก – หลอกเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สูญเงินกว่า 2 ล้านบาท

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 1 – 4 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

คดีที่ 1 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 719,890 บาทผู้เสียหายพบเห็นโฆษณารับสมัครนายแบบ – นางแบบเด็ก ไม่มีค่าใช้จ่าย รายได้ตอบแทนสูง ผ่านช่องทาง Facebook จึงสนใจทักไปสอบถามพูดคุย มิจฉาชีพแจ้งว่าเป็นการรีวิวสินค้าเสื้อผ้าเด็ก จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line ดึงเข้า Group Line อธิบายภารกิจของกลุ่ม โดยให้สำรองเงินไปก่อนและทำภารกิจให้ครบจึงจะได้เงินคืนพร้อมค่าคอมมิชชันและจะได้เซ็นสัญญาเป็นนายแบบ – นางแบบกับแบรนด์เสื้อผ้า ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปทำภารกิจ ต่อมาภายหลังผู้เสียหายต้องการยกเลิกภารกิจ มิจฉาชีพอ้างว่าทำผิดกฎบริษัท จะดำเนินคดี ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 210,000 บาท โดยผู้เสียหายได้สั่งซื้อเนื้อไก่สด ผ่านช่องทาง Facebook เพื่อมาจำหน่าย ได้ตกลงราคาซื้อขาย และนัดส่งสินค้าพร้อมโอนเงินชำระเรียบร้อย ภายหลังจากโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 หลอกลวงติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 647,700 บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน แจ้งว่าจะนำคืนภาษีที่ดิน ผู้เสียหายหลงเชื่อ มิจฉาชีพให้เพิ่มเพื่อนทาง Line ส่งลิงก์ให้ดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชันของกรมที่ดินโดยมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำขั้นตอน ต่อมาภายหลังผู้เสียหายเช็คยอดเงินในบัญชีของตนพบว่าได้ถูกโอนออกไป ตนเองเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 หลอกลวงติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 175,450 บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ ผ่านข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) แจ้งว่าพัสดุของท่านถูกตีกลับ บริษัท ไปรณีย์ไทย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงกดลิงก์เข้าไปเป็นการเพิ่มเพื่อน Line อัตโนมัติจากนั้นมิจฉาชีพส่งลิงก์ให้ดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อกรอกข้อมูลยืนยัน รับเงินคืนโดยทำตามเจ้าหน้าที่แนะนำ ต่อมาภายหลังผู้เสียหายเช็คยอดเงินในบัญชีของตนพบว่าได้ถูกโอนออกไป จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน Call Center มูลค่าความเสียหาย 519,000 ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี แจ้งว่าบัญชีธนาคารของผู้เสียหายถูกคนร้ายนำไปใช้เป็นบัญชีม้าในการฟอกเงิน จากนั้นให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนทาง Line พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่รับผิดชอบคดี ให้โอนเงินไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้วจะโอนกลับคืน ให้ภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป หลังจากโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อได้อีก ตนจึงเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 2,272,040 บาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 2 สิงหาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

  1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 901,424 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,266 สาย
  2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 257,035 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,098 บัญชี
  3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 76,536 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 29.78 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 61,921 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.09 (3) หลอกลวงลงทุน 43,145 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 16.78 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 19,735 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.68 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 19,183 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.46 (และคดีอื่นๆ 36,515 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.21)

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพได้ใช้การติดต่อผ่านช่องทางโซเชี่ยลมีเดียคือ Line  และFacebook  โดยบางเคสยังได้มีการส่งลิงก์เพื่อให้ผู้เสียหายกด ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชนตรวจสอบบัญชีทางโซเชียลมีเดียอย่างรอบคอบก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรืออัพโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชน ควรตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของตัวบุคคลที่ติดต่อด้วยทางแพลตฟอร์มนั้นๆ โดยหากไม่แน่ใจ สามารถขอให้ชะลอการติดต่อหรือทำธุรกรรมร่วมกันก่อน และไม่ควรตัดสินใจโอนเงินซื้อสินค้า หรือทำธุรกรรมใดๆ โดยสามารถตรวจสอบขอข้อมูลต่างๆ ผ่านสายด่วน GCC 1111 หรือสอบถามกับทางธนาคารโดยตรง อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441

Advertisement