Business Highlight Online : 14 พฤศจิกายน 2567 ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือนตุลาคมด้านสถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัด ส่วนใหญ่เห็นว่า ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีปัจจัยบวกหลายด้านที่ทำให้ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า อีก 6 เดือนข้างหน้า สถานการณ์เศรษฐกิจจะดีขึ้น
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) ซึ่งสำรวจโดยหอการค้าไทยร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือนตุลาคม 2567 ประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัด ประจำเดือนตุลาคม 2567 ส่วนใหญ่คิดเป็น 35.3% เห็นว่า ไม่เปลี่ยนแปลง 35.2% เห็นว่า แย่ลง และ 29.5% เห็นว่า ดีขึ้น แต่คาดการณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ส่วนใหญ่ 45.3% เห็นว่า ดีขึ้น อีก 37.5% เห็นว่า แย่ลง และ 17.2% เห็นว่า ไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับปัจจัยด้านบวกที่ส่งผลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจมี ดังนี้
1.รัฐบาลดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายรวม 14.55 ล้านคน โดยเริ่มทำการโอนเงิน 10,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
2.กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี
3.สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเผยผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2 ถึง3.2%) จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี
4.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
5.ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้นและมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
6.การส่งออกของไทยเดือน ก.ย. 67 ขยายตัวร้อยละ 1.1 มูลค่าอยู่ที่ 25,983.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 มีมูลค่าอยู่ที่ 25,588.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 394.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
7.SET Index เดือน ต.ค. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.21 จุด จาก 1,448.83 ณ สิ้นเดือน ก.ย. 67 เป็น 1,466.04 ณ สิ้นเดือน ต.ค. 67
8.ครม. มีมติเห็นชอบขยายเวลาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ที่ 796 ต่ออีก 1 ปี โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 กันยายม 2568 เพื่อส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
9.มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด โดยให้มีผลตั้งแต่ พ.ค. – พ.ย. 2567
10.ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 34.88 และ 35.25 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา
ส่วนปัจจัยด้านลบได้แก่
1.ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาส ตลอดจนสถานการณ์ความชัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น
2.การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
3.ความเสียหายของภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่ ทำให้ต้องหยุดดำเนินกิจการและขาดรายได้ อีกทั้งยังต้องซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เกิดความเสียหาย
4.แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน
5.ความผันผวนของค่านั้นบาทที่ปรับตัวแข็งค่าสูง ทำให้ผู้ประกอบการบารบางรายเกิดความกังวลโดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าไทยที่อาจจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
6.ความกังวลจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการเกิดความไม่สบายใจในการเตรียมความพร้อม
7.ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 33.356 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 67 เป็น 33.372 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 67 ทำให้มีความกังวลว่า จะส่งกระทบในเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก
ทั้งนี้ ได้เสนอแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาได้แก่
1.การกระตุ้นมาตรการเศรษฐกิจในช่วยปลายปี โดยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วไทยในช่วงปลายปี
2.เร่งพิจารณามาตรการเสริมทักษะแรงงาน, เสริมศักยภาพ SME, สนับสนุน SME เข้าถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีความต้องการ
3.มาตรการควบคุมสินค้าจีนที่อาจจะทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่องภายในประเทศไทย จนกระทบกับผู้ประกอบการไทยในอนาคต
4.การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
Advertisement