Business Highlight Online : 6 มกราคม 2568 คลังยื่นเงื่อนไข ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมสีเขียว แลกผลกระทบภาษี GMT
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากกรมสรรพากร เริ่มเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) อัตราร้อยละ 15 เพื่อเรียกเก็บจากนิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises) ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ยอมรับว่าเป็นแนวทางจัดเก็บเหมือนกันหลายประเทศทั่วโลกในสมาชิก OECD เมื่อนักลงทุนต่างชาติไปลงทุนในประเทศใดต้องเสียภาษีลักษณะเดียวกันหมด ดังนั้น หากไม่เสียในประเทศไทยก็ต้องเสียในประเทศต้นทางอยู่ดี เพราะทุกประเทศเก็บภาษีร้อยละ 15 ในลักษณะเดียวกันหมด
“ผมได้สอบถามนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับส่งเสริมจากบีโอไอ และลงทุนในประเทศมายาวนาน ทั้งตั้งโรงงานผลิตสินค้า ขยายการลงทุนด้านต่าง ๆ ดังนั้น ควรเสียภาษี GMT ในประเทศไทยดีกว่าไหม โดยไม่ต้องไปเสียกับประเทศต้นทาง เพราะได้ลงทุนมาแล้ว หากเอกชนรายใดร่วมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมสีเขียว ร่วมดูแลด้าน ESG คาร์บอนต่ำ ร่วมพัฒนาบุคคลากรไทยไปสู่สังคมดิจิทัล หากร่วมทำในปัจจัยเหล่านี้ รัฐบาลไทยพร้อมส่งเสริมดูแล ผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และกำลังศึกษามาตรการอื่นมาดูแลเพิ่มเติม เพราะมีหลายช่องทางในการดูแลเอกชนลงทุนในประเทศไทย” นายพิชัย กล่าว
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) อัตราร้อยละ 15 หากไทยไม่เก็บ ประเทศต้นทางจะเก็บภาษีดังกล่าวอยู่ดี เพราะเป็นกติกาหลายประเทศทั่วโลกจัดทำด้วยกัน ยอมรับว่ากระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเพียงบางราย แต่ไม่ใช่กระทบกับบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ขณะนี้การจัดเก็บภาษียุคใหม่ทั่วโลก จะไม่แข่งขันในการลดภาษี เมื่อไทยมีสิทธิ์ในกลุ่ม OECD จึงต้องออกกฎหมายเก็บภาษีดังกล่าว ส่วนการใช้เงินกองทุนขีดความสามารถในการแข่งขันดูแล ต้องเสนอขอจัดสรรงบประมาณ จากเบื้องต้นเงินกองทุนประเดิมมีอยู่ 50,000 ล้านบาท ต้องดูว่าบีไอโอใช้ไปเท่าไรแล้ว และต้องใช้เพิ่มอีกอย่างไรต้องหารือกันเพิ่มเติม
Advertisement