ประยุทธ์ หารือ รมว.ต่างประเทศสหราชอาณาจักร ยืนยันความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน

334

business highlight online : นายกฯ หารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ยืนยันความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่รอบด้าน พร้อมผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2564) เวลา 15.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางเอลิซาเบท ทรัสส์ (ลิซ) (The Right Honourable Elizabeth Truss MP) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรที่แน่นแฟ้นยาวนานกว่า 400 ปี โดยเฉพาะด้านการค้า ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย และได้แสดงความยินดีกับสหราชอาณาจักรในการจัดประชุม COP26 (World Leaders’ Summit) ที่ประสบความสำเร็จอย่างลุล่วงเห็นผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร โดยเชื่อมั่นว่า ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของสหราชอาณาจักร โดยเชื่อมั่นว่าไทยและสหราชอาณาจักรยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และความมั่นคง ทั้งนี้ ทราบว่าไทยกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ซึ่งสหราชอาณาจักรพร้อมให้คำแนะนำและทำงานร่วมกับไทย เพื่อเป็นอีกกลไกในการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่นักลงทุนจากสหราชอาณาจักรเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาพลังงานสีเขียว เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าในมิติด้าน เทคโนโลยี การศึกษา และนวัตกรรม เป็นสาขาที่มีความสำคัญและทั้งสองฝ่ายควรพิจารณาเพิ่มพูนความร่วมมือมากขึ้น

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

ด้านสาธารณสุขและนโยบายด้านวัคซีน นายกรัฐมนตรีขอบคุณสหราชอาณาจักรที่ได้มอบวัคซีน  AstraZeneca แก่ไทย และได้ให้การรับรองวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ สะท้อนถึงความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่แน่นแฟ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้สหราชอาณาจักรร่วมมือกับไทยในการวิจัยวัคซีน ChulaCov-19 ซึ่งพัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง

ด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยได้เปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว เดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว

ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ที่ไทยและสหราชอาณาจักรมีอยู่แล้ว รวมถึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศมีบทบาทในกลไกดังกล่าว ตลอดจนการแสวงหาความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งไทยพร้อมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันต่อไป นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการค้าพหุภาคีและการจัดทำ FTA โดยไทยหวังว่าจะหารือการจัดทำ FTA ระหว่างกันในโอกาสแรก

ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายกรัฐมนตรีย้ำแนวนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญในประเด็นนี้ พร้อมผลักดันความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยไทยมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมร่วมมือกับสหราชอาณาจักรในการแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนถ่ายพลังงานและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยืนยันว่าไทยต้องการเห็นสันติภาพและเสถียรภาพกลับคืนสู่เมียนมา และต้องการให้มีการเจรจาหาทางออกร่วมกันด้วยสันติวิธี อย่างไรก็ดี ไทยขอบคุณสหราชอาณาจักรที่ได้ให้การสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเมียนมา และหวังว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงสนับสนุนอาเซียนต่อไป

Advertising