กรมทรัพย์สินทางปัญญาห่วงผู้ค้ารายย่อยแนะตรวจลิขสิทธิ์สินค้าก่อนขาย ให้ระวังผู้อ้างตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

258

business highlight online : 3 มิถุนายน 2565 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ห่วงใยผู้ค้ารายย่อยแนะตรวจสอบสินค้าให้รอบคอบก่อนนำมาจำหน่าย ป้องกันถูกกล่าวหาขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ย้ำระมัดระวังผู้อ้างตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เรียกค่ายอมความแลกกับการไม่ดำเนินคดี

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมา กรมฯ ได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ค้ารายย่อยหลายราย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ว่า มีกลุ่มคนอ้างตัวเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพการ์ตูนรูปสัตว์ เข้าจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ค้ารายย่อยฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยนำหนังสือแสดงการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่ออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา มาใช้เป็นเครื่องมืออ้างความเป็นเจ้าของสิทธิ และเรียกรับค่าเสียหายหรือค่ายอมความเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีกับผู้ค้า

อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่เกิดขึ้น กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาในลักษณะดังกล่าว ดังนั้น กรมฯ ขอเน้นย้ำและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับงานลิขสิทธิ์ ซึ่งมีอยู่หลากหลายประเภท อาทิ วรรณกรรม ภาพยนตร์ เพลง ภาพวาด ภาพถ่าย และการ์ตูน เป็นต้น ล้วนเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ในทันทีที่ได้สร้างสรรค์ โดยเจ้าของสิทธิไม่ต้องยื่นจดทะเบียน แต่สามารถแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมฯ เพื่อรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลลิขสิทธิ์ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจใช้ประโยชน์ในงานลิขสิทธิ์สามารถติดต่อเจ้าของสิทธิเพื่อขออนุญาตใช้งานได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิตามกฎหมาย โดยเมื่อเจ้าของผลงานลิขสิทธิ์ได้ยื่นจดแจ้งลิขสิทธิ์ไว้กับกรมฯแล้ว กรมฯ จะออกหนังสือแสดงข้อมูลลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้แจ้ง ซึ่งสามารถนำหนังสือแสดงข้อมูลลิขสิทธิ์ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ใช้เป็นเอกสารประกอบในการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์

“พ่อค้าแม่ค้าผู้ค้ารายย่อย ก่อนนำสินค้ามาจำหน่ายต้องให้ความสำคัญในการพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสินค้าที่นำมาจำหน่ายนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์และได้ขออนุญาตเจ้าของสิทธิอย่างถูกต้องหรือไม่ หากถูกกล่าวหาว่าจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของตัวแทนที่เข้าจับกุม มีการแจ้งความร้องทุกข์และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาด้วยหรือไม่ อีกทั้งควรใช้สิทธิตามกฎหมายของตน โดยเฉพาะสิทธิที่จะมีทนายความ ที่สำคัญอย่าจ่ายค่ายอมความในทันที แม้ว่าคดีละเมิดลิขสิทธิ์จะสามารถยอมความกันได้ก็ตาม แต่ควรดำเนินการต่อหน้าพนักงานสอบสวนและมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ในส่วนของเจ้าของสิทธิหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ หากพบการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ของตน ควรดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้อง การนำหนังสือแสดงการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไปใช้อ้างสิทธิและเข้าจับกุมเพื่อเรียกค่ายอมความนั้น ถือเป็นการใช้ประโยชน์โดยผิดวัตถุประสงค์ อันก่อให้เกิดความเดือดร้อนทุกข์ใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ปัจจุบันประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ” นายวุฒิไกร กล่าว

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับคำปรึกษาจากกรมฯ ได้ที่หมายเลข 02 547 4633 ในวันและเวลาราชการ หรืออีเมล copyright.office@ipthailand.go.th ได้

Advertisement