ปตท.เตรียมเก็บค่าชาร์จอีวีปั๊ม​ PTT Station เริ่ม ส.ค.นี้

257

business highlight online : 30 มิถุนายน 65 ปตท.เตรียมเก็บอัตราชาร์จไฟฟ้า รถอีวี เดือน ส.ค.นี้ OR เร่งขยายปั๊มชาร์จแตะ 450 แห่งสิ้นปีนี้ เล็งร่วมมือรถบัสปรับตัวเป็นรถอีวี

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวในงาน FTI Expo 2022 ที่จัดขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับพันธมิตรองค์กรชั้นนำ โดยระบุว่า

กลุ่ม ปตท.จะมุ่งไปสู่เรื่องของพลังงานแห่งอนาคต Future Energy ที่เป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐให้บรรลุเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศน์และสังคมที่ดีขึ้น โดยเรื่องของธุรกิจใหม่ จะเน้นการลงทุนพลังงานทดแทน การลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ครบวงจร โดยในส่วนธุรกิจแบตเตอรี่ ที่เป็นการสร้างการเติบโตในธุรกิจสีเขียว เช่น ปตท.มีการลงทุนเรื่องของแบตเตอรี่ ก็ได้หารือกับผู้ประกอบการรถบัส เพื่อสนับสนุนให้เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่อีวี โดย ปตท.จะสนับสนุนเรื่องของแบตเตอรี่ให้

ส่วนปั๊มชาร์จไฟฟ้าของ OR จะเริ่มเก็บค่าบริการชาร์จในเดือน ส.ค.นี้ หลังจากได้เปิดให้ประชาชนทดลองชาร์จฟรีมาครบกำหนดแล้ว และแม้ว่าจะเก็บค่าชาร์จไฟฟ้า แต่ก็ยังเป็นอัตราที่ถูกกว่าราคาน้ำมันมาก โดยรถอีวีจ่ายค่าไฟฟ้า 0.70-1 บาท/กม. ส่วนน้ำมันนั้นจ่าย 3 บาท/กม. ขณะเดียวกัน OR ก็จะเดินหน้าขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากปัจจุบันอยู่ที่ 190 แห่ง จะเพิ่มเป็น 450 แห่งสิ้นปีนี้ ส่วนการเช่ารถอีวีของ ปตท. ภายใต้ EVme ปัจจุบันมีอยู่ 200 คัน จะเพิ่มอีก 500 คันในปีนี้

สำหรับ 1 ส.ค.คิดอัตราค่าบริการมีดังนี้

1.On Peak คิด 7.5 บาท/หน่วย (kWh) ในช่วง

วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-22.00 น.

2.Off Peak คิด 4.5 บาท/หน่วย (kWh) ในช่วงวัน

วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 22.00-9.00 น. (ของวันถัดไป)

วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ ไม่รวมวันหยุดชดเลย ตลอด 24 ชม.

3.บริการจองเพื่อชาร์จ ค่าบริการ 20 บาท/ครั้งจะคืนเงินให้เมื่อเข้าใช้บริการภายใน 10 นาทีแรก ของช่วงเวลาที่จอง เช่น จองไว้ 12.00 น. เข้าใช้งานได้ช้าสุดคือ 12.10 น. ถ้าเกินจากนั้นระบบจะไม่คืนค่าจองให้

“ธุรกิจใหม่ ปตท.จะขับเคลื่อนการเติบโตตามวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” ปรับจากเชื้อเพลิงฟอสซิล​ไปสู่การใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งจะต้องพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนที่ 12 GW ภายในปี 2573 จากปัจจุบัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์” นายอรรถพลกล่าว

ทั้งนี้ ตามแผนลงทุน 5 ปี (2565-2569) ปตท.ได้ตั้งงบประมาณอยู่ที่ราว 146,000 ล้านบาท และกลุ่ม ปตท.จะใช้งบประมาณอยู่ที่ราว 980,000 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงาน แห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) โดยตั้งเป้าใน 10 ปีข้างหน้า ให้มีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจใหม่ 30% ในปี 2573

Advertisement