งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปี 66 วงเงิน 1.36 ล้านล้านบาทผ่านฉลุย

214

business highlight online : 21 กันยายน 65 ที่ประชุม ครม.เมื่อวาน (20 ก.ย.) เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบฯ 66 วงเงินดําเนินการ 1.36 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 2.76 แสนล้านบาท คาดปี 66 รัฐวิสาหกิจมีกําไรสุทธิ 67,692 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจําปี 2566 วงเงิน 1.36  ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 276,274 ล้านบาท มอบหมายให้ สศช. ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจําปี 2566 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณ ปี 2566

ครม. ยังเห็นชอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระดับกระทรวง และระดับรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจรับข้อเสนอแนะไปพิจารณาดําเนินการ โดยให้รายงานแผนลงทุนปี 66 ให้ สศช. ทราบ ภายในวันที่ 5 ของเดือน และความก้าวหน้าโครงการลงทุนทุกไตรมาส พร้อมรับทราบประมาณการงบทําการประจําปี 2566  กําไรสุทธิประมาณ  67,692 ล้านบาท รายได้ 1.71 ล้านล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดําเนินงานช่วงปี 67-69  ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้น การลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 383,970 ล้านบาท และผลประกอบการมีกําไรสุทธิเฉลี่ยปีละ 80,487 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 8 ด้าน ให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ ดังนี้

1.การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยให้เร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน

2.การปรับปรุงงบลงทุนระหว่างปี หากลดกรอบวงเงินลงทุน ควรเป็นผลกระทบจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้หรือเป็นการดำเนินการตามนโยบายเท่านั้น

3.การทบทวนสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ ให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาความจำเป็นของการคงสถานะองค์กรเป็นรัฐวิสาหกิจในภาวะการปัจจุบันหรืออาจปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรเป็นหน่วยงานภาครัฐอื่น ให้สามารถดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์ การปรับบทบาท ภารกิจให้สอดรับกับบริบทปัจจุบันให้มากขึ้น

4.แนวทางการลงทุนในระยะต่อไป ให้พิจารณาเสนอขออนุมัติงบลงทุนสอดคล้องกับกรอบการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจด้วย

5.การจัดตั้งและกำกับดูแลบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ ควรพิจารณารายละเอียด ข้อจำกัดของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการอย่างรอบคอบ

6.การปรับกระบวนการภาครัฐ ที่มีผลต่อการดำเนินงาน และการลงทุน ของรัฐวิสาหกิจ เร่งรัดพิจารณาหรือดำเนินการในส่วนที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เช่น การตอบข้อวินิจฉัยหรือข้อหารือด้านกฎหมายให้มีความชัดเจนโดยเร็ว

7.การพัฒนาบุคลากรของรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐวิสาหกิจให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและรองรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรพิจารณาเพิ่มสัดส่วนพนักงานที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่

8.การบริหารความเสี่ยง ภายใต้ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ให้ติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก เพื่อจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง และการลงทุนรองรับได้ทันต่อสถานการณ์

นอกจากนี้ ยังได้ให้กระทรวงและรัฐวิสาหกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การให้บริการ การลดต้นทุน การผลิตและการบริหารจัดการที่เหมาะสม ของแต่ละรัฐวิสาหกิจ

Advertisement