รัฐวิสาหกิจโชว์ผลงาน เบิกจ่ายงบลงทุนปี 2565 กว่า 3.25 แสนล้านบาท

163

business highlight online : 24 มกราคม 66 รัฐวิสาหกิจโชว์ผลงาน เบิกจ่ายงบลงทุนปี 2565 กว่า 3.25 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 93 ของกรอบงบลงทุน

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ประจำปี 2565 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุน จำนวน 325,175 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 93 ของกรอบงบลงทุน สูงกว่าปี 2564 ที่เบิกจ่ายได้จำนวน 307,185 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 88 ของกรอบงบลงทุน ทั้งนี้ ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ (คณะกรรมการฯ) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานได้ออกมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการติดตามเร่งรัดของ สคร. และความร่วมมือของรัฐวิสาหกิจในการเร่งการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2565 ดังกล่าวข้างต้น ส่วนหนึ่งเป็นการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน จำนวน 9 แห่ง ซึ่งได้สิ้นสุดการดำเนินการในเดือนธันวาคม 2565 แล้ว ที่มีการเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมายโดยมีผลการเบิกจ่ายสะสม จำนวน 210,972 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ของกรอบลงทุนทั้งปี และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2565 ได้สูงถึง 325,175 ล้านบาท

สำหรับในไตรมาส 1 ของปี 2566 รัฐวิสาหกิจปีงบประมาณมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุน จำนวน 16,187 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของแผนการเบิกจ่าย

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ได้มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี โดยให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงงบลงทุนระหว่างปี 2566 ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรก โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินให้มีการเตรียมการปรับปรุงงบลงทุนไว้ล่วงหน้า ปรับแผนการลงทุนให้สามารถเบิกจ่ายได้เร็วขึ้นในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปี (Front – Loaded) เพื่อหลีกเลี่ยงการเบิกจ่ายงบลงทุนที่กระจุกตัวในไตรมาสสุดท้าย และเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการดำเนินการต่างๆ เช่น การจ้างที่ปรึกษา การเตรียมความพร้อมของพื้นที่ก่อนดำเนินการจริง และการเตรียมรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่ารัฐวิสาหกิจจะสามารถดำเนินโครงการและเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามเป้าหมาย และมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

Advertisement