ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ธนาคารไทยจะไม่ล้มเหมือนสหรัฐ

199
A customer is escorted into the Silicon Valley Bank headquarters in Santa Clara, California, U.S., March 13, 2023. REUTERS/Brittany Hosea-Small

business highlight online : 14 มีนาคม 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแม้ผลกระทบตลาดทุนของไทยจะมีแรงกระเพื่อมจากแบงก์ 2 แห่งในสหรัฐล้ม แต่ชี้ไม่กระทบมายังธนาคารพาณิชย์ของไทย เนื่องจากโครงสร้างสินทรัพย์-เงินฝาก พฤติกรรมลูกค้าแตกต่าง และที่สำคัญ ธปท. กำกับเข้ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าจากการที่ธนาคารพาณิชย์ 2 แห่งในสหรัฐ คือ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank ถูกสั่งการให้ปิดตัวลง หลังจากต้องรับมือกับสถานการณ์การแห่ถอนเงิน ท่ามกลางความตื่นตระหนกของผู้ฝากเงินเพียงช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานั้น แม้ทางการสหรัฐ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐ หน่วยงานกำกับดูแล และบรรษัทประกันเงินฝาก (FDIC) ได้เร่งออกหลายมาตรการเพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่น สกัดความเสี่ยงเชิงระบบของภาคธนาคารพาณิชย์สหรัฐ และเข้าดูแลกลุ่มผู้ฝากเงิน และบรรเทาแรงกดดันต่อสถาบันการเงินอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังผลกระทบที่จะมีต่อไทย แม้จะมีในบางมิติ แต่เชื่อว่าเหตุการณ์คงไม่เดินตามกรณีของแบงก์ในสหรัฐ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองผลกระทบต่อไทยจากเหตุการณ์ความปั่นป่วนของแบงก์ในสหรัฐ ดังนี้

1.ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน ปรากฏขึ้นในช่วงระหว่างทางที่ตลาดรอติดตามความชัดเจนและพัฒนาการของสถานการณ์ในระบบแบงก์ในสหรัฐ โดยเฉพาะในส่วนของการเรียกคืนความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน (หลังจากที่ทางการสหรัฐมีการออกมาตรการมาแล้วในระดับหนึ่ง) เพื่อประเมินท่าทีเชิงนโยบายของเฟดในระยะถัดไปว่าจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจนไปใกล้ระดับ 6.00% ดังที่ตลาดการเงินทยอยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ได้หรือไม่

นั่นหมายความว่า ค่าเงินบาทอาจยังแกว่งตัวในกรอบผันผวน (นับจากต้นปีที่ผ่านมามีระดับความผันผวนสูงถึง 11-12%) เช่นเดียวกับแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยที่ยังอาจเผชิญความเสี่ยงตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ สวนทางกับแรงหนุนต่อสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น ทองคำ ในกรณีที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง

นอกจากนี้หากประเด็นความไม่แน่นอนในภาคการเงินการธนาคารและการชะลอตัวของตลาดบ้านของสหรัฐ ทำให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบระมัดระวัง และลดท่าทีที่แข็งกร้าวลงมา อาจทำให้เงินบาทผันผวนในกรอบที่แข็งค่าขึ้นได้

2.ผลต่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เชื่อว่าผลกระทบทางตรงมีจำกัด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยมีความเชื่อมโยงและมีความเสี่ยงโดยตรงกับธนาคารสหรัฐ ทั้ง 2 แห่งดังกล่าวน้อยมาก หรือไม่มีเลย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่นิ่ง ทำให้ยังคงต้องติดตามความชัดเจนของประเด็นต่างๆ ในช่วงหลังจากนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยังมีผลกระทบในส่วนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้บ้าง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาทิ ผลกระทบจากการบันทึกผลขาดทุนจากการถือครองตราสารหนี้ตามราคาตลาด (Mark-to-Market) ในจังหวะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ทยอยปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นกับนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก ยกตัวอย่างในปี 2565 ที่ผ่านมา แม้จะมีรายการบันทึกผลขาดทุนจากการถือครองตราสารหนี้เมื่อคำนวณตามราคาตลาด (MTM losses) แต่เพื่อรับมือกับทิศทางดังกล่าว ธนาคารในไทยก็มีการปรับกลยุทธ์การถือครองตราสารหนี้ ให้มีอายุเฉลี่ยของตราสารลดลง (Shorten Duration) และ/หรือปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ และทิศทางตลาดเงินตลาดทุนมากขึ้น (เพื่อจำกัดผลกระทบจากการ Mark-to-Market)

นอกจากนี้สถานะของธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคงกว่าในหลายมิติ ทั้งเรื่องสภาพคล่อง และความเข้มแข็งของเงินกองทุน ดังจะเห็นได้จากอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ของไทยที่อยู่ในระดับสูงเกินเกณฑ์ และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (% CAR) ของไทยที่สูงกว่าสหรัฐ โดยสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (% LCR) ของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ณ เดือน ม.ค. 2566 อยู่ที่ 189.49% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด

ขณะที่เงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศก็อยู่ในระดับที่เข้มแข็งเช่นกัน โดยสัดส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นอยู่ที่ 18.98% สัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.93% และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 15.39% ซึ่งสูงกว่าสหรัฐ ที่มีสัดส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นอยู่ที่ 15.16% สัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 13.69% และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 12.37%

โครงสร้างสินทรัพย์และเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีการกระจุกตัวน้อยกว่าแบงก์สหรัฐที่ประสบปัญหา โดยในกรณีของ Silicon Valley Bank ในสหรัฐนั้น มีโครงสร้างฝั่งสินทรัพย์ในลักษณะที่มีสัดส่วนสินเชื่อน้อยกว่าพอร์ตเงินลงทุน (สินเชื่อสุทธิมีสัดส่วน 35% ของสินทรัพย์รวม ขณะที่พอร์ตเงินลงทุนในตราสารหนี้มีสัดส่วนสูงถึง 55% ของสินทรัพย์รวม) ขณะที่เงินฝากค่อนข้างกระจุกตัว เพราะมีที่มาจากลุ่มลูกค้าบริษัทเทคฯ VC และ Startups เป็นหลัก

แต่กรณีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะตรงข้ามกัน โดยที่พอร์ตสินเชื่อสุทธิมีสัดส่วน 64% ของสินทรัพย์รวม และเป็นพอร์ตที่มีการกระจายตัวระหว่างสินเชื่อรายใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อย ในอัตราส่วน 35.8%, 23.5% และ 40.7% ของสินเชื่อทั้งระบบ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ตามลำดับ อันถือว่าเป็นการกระจายตัวที่ดีกว่ากรณีธนาคารสหรัฐ

ขณะที่พอร์ตเงินลงทุนสุทธิ รวมทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน มีสัดส่วนประมาณ 11.7% ของสินทรัพย์รวม จากโครงสร้างพอร์ตสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่กระจายตัว และสมดุลกว่า ทำให้สามารถสร้างกระแสรายรับที่มีความต่อเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อ และบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนฝั่งหนี้สิน โดยเฉพาะเงินฝากนั้น มีโครงสร้างที่ประกอบด้วยเงินฝากรายย่อย ธุรกิจ ภาครัฐ สถาบันที่ไม่แสวงหากำไร และอื่นๆ ในอัตราส่วน 55.3%, 26.7%, 7.4% 2.7% และ 6.3% ของยอดรวมเงินฝาก ตามลำดับ ซึ่งมีความสมดุลมากกว่ากรณีของ Silicon Valley Bank มาก และตามธรรมชาติของผู้ฝากเงินจะเน้นความมั่นคง มากกว่าการหาผลตอบแทน ดังนั้น เมื่อประกอบกับความมั่นคงในระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ไทย การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม และการกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของทางการไทยร่วมด้วย จึงทำให้ความเสี่ยงจากการถูกถอนออก น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารสหรัฐที่ประสบปัญหามาก

นอกจากนี้การลงทุนใน Startups ของแบงก์ไทย จะดำเนินการผ่าน Venture Capital ที่จัดตั้งขึ้น อีกทั้งมีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีหรือธุรกิจใหม่ๆ ที่เกื้อกูลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแบงก์ในอนาคต มากกว่าจะเน้นมิติของการลงทุนเพื่อทำกำไร อีกทั้งอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลโครงสร้างและขอบเขตธุรกิจของกลุ่มธุรกิจการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้น จึงทำให้น่าจะตีกรอบผลกระทบจากเหตุไม่คาดคิดได้ในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าแม้กรณีปัญหาความอ่อนแอของแบงก์ในสหรัฐ (Silicon Valley Bank และ Signature Bank) น่าจะไม่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบในเวลานี้ ท่ามกลางความพยายามของทางการสหรัฐ ในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน แต่ยังต้องถือว่าปัญหานี้ยังไม่สิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์ และมีประเด็นให้ติดตาม โดยเฉพาะในช่วงที่ดอกเบี้ยสหรัฐยังเป็นขาขึ้น

นอกจากนี้เชื่อว่าทางการสหรัฐ และตลาด คงจะทยอยติดตามสถานการณ์ของสถาบันการเงินอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุเปราะบางที่คล้ายคลึงกันขึ้นอีกในอนาคต

สำหรับไทยผลกระทบจะปรากฏทางอ้อม ผ่านความผันผวนของตลาดการเงินมากกว่า ขณะที่ผลกระทบทางตรงจากธนาคารของสหรัฐทั้ง 2 แห่งยังมีจำกัด นอกจากนี้ด้วยความที่ธนาคารพาณิชย์ไทยมีสถานะสภาพคล่องและความมั่นคงของเงินกองทุนที่มั่นคง รวมถึงมีการกระจายตัวของโครงสร้างสินทรัพย์และโครงสร้างเงินฝากที่ดีกว่า อีกทั้งพฤติกรรมลูกค้าแตกต่างจากสหรัฐ และที่สำคัญยังมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดและใกล้ชิดโดย ธปท. ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยจะไม่เกิดเหตุการณ์ดังในกรณีสหรัฐ

Advertisement