ภาคอุตฯ เชื่อตั้งรัฐบาล  310  เสียงได้  แต่กังวลขึ้นค่าแรง

197

business highlight online : 16 พฤษภาคม 2566 ส.อ.ท. เชื่อตั้งรัฐบาล 310 เสียงได้ กังวลหากโหวตเลือกนายกฯ ล่าช้า กระทบเบิกจ่ายงบฯ 67-68 ยอมรับหวั่นนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกระทบต้นทุน ชี้ควรขึ้นตามทักษะแรงงาน

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่า เชื่อว่าพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาล 310 เสียงได้ ส่วนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ยังต้องรอดูความชัดเจนอีกรอบ สิ่งที่กังวลคือ หากในช่วงเดือน ส.ค.–ก.ย. ยังไม่ได้ตัวนายกรัฐมนตรี  จะทำให้เกิดสุญญากาศ และจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2567 และ อาจส่งผลกระทบไปถึงการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ ปี 2568 ที่ตามช่วงเวลาจะต้องมีการอนุมัติงบในต้นปี 2567

“ส.อ.ท.อยากให้มีการตั้งรัฐบาลได้ตามไทม์ไลน์โดยเร็ว เพราะยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมากมาย ทั้งในปี 2567 และ 2568 อย่าทะเลาะกันเลย ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ทาง ส.อ.ท. ซึ่งเป็นกลางทางการเมือง ก็พร้อมทำงานด้วย เพราะต้องการเห็นประเทศชาติเดินหน้าต่อไปในอนาคต” นายมนตรี กล่าว

รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวต่อว่า มีข้อกังวลต่อนโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่ากลไกการปรับขึ้นค่าแรง ต้องผ่านที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ตามกฏหมายแรงงาน คือ ลูกจ้างนายจ้าง และรัฐบาล จึงอยากให้ว่าที่รัฐบาลใหม่ ทั้งพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยมานั่งคุยกันว่าจะขึ้นค่าแรงอย่างไรที่จะควบคู่ไปกับการดูแลค่าครองชีพประชาชนไปพร้อมๆ กัน เพราะที่ผ่านมา เมื่อมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรง บรรดาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็จะพาเหรดปรับขึ้นราคาไปรอแล้ว

ทั้งนี้ ส.อ.ท. เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง แต่ควรมีการพิจารณาปรับขึ้นตามทักษะความชำนาญของแรงงาน และต้องพิจารณาว่าหากปรับขึ้นค่าแรง ผลประโยชน์ที่แท้จริงจะตกอยู่กับประเทศที่แท้จริงมากน้อยเพียงใด เพราะต้องเข้าใจว่าปัจจุบันแรงงานครึ่งหนึ่งในประเทศไทยเป็นแรงงานต่างด้าว และยังต้องคำนึงถึงศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วย

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธาน ส.อ.ท. มองว่า 310 เสียง ในการตั้งรัฐบาล เป็นกลไกที่เหมาะสมในหลักการประชาธิปไตย  เพราะจะมีเสียงฝ่ายค้านประมาณ 200 เสียงในการถ่วงดุล  แต่เงื่อนไขในการเลือกนายกรัฐมนตรี ถ้ามองในแง่บวก เชื่อว่า ส.ว. จะเห็นด้วย เนื่องจากผลการเลือกตั้งเป็นฉันทามติ ทั้งในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ และจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ประกาศยุบสภา จนมีการประกาศเลือกตั้ง จะเห็นว่าความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความคาดหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้

ขณะที่นโยบายขึ้นค่าแรงต้องมองภาคสังคม คือ ปากท้องของประชาชน ไปพร้อมๆกับภาคเศรษฐกิจ คือความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ทาง ส.อ.ท. ไม่ได้ปฏิเสธนโยบายประชานิยม แต่ขอให้เป็นประชานิยมที่จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่างภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคม และภาครัฐ โดยจะต้องเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างแท้จริง

Advertisement