business highlight online : วันนี้ (30 มีนาคม 2560) นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิสูงเป็นผลให้อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องจักรของโรงงานอุตสาหกรรมต้องทำงานหนัก ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอัคคีภัย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงงาน และในช่วงวันหยุดยาวส่วนใหญ่โรงงานจะใช้โอกาสนี้ในการซ่อมบำรุง หรือติดตั้งเครื่องจักรใหม่ หลายครั้งก็เกิดอุบัติเหตุอัคคีภัยขึ้น ดังนั้น การซ่อมแซมหรือการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ จึงฝากเตือนกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ของโรงงานกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับเหมาอย่างใกล้ชิด
“ระยะนี้เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อยครั้ง ผมได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งเตือนโรงงานให้ระมัดระวังและเข้มงวดด้านความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง เช่น โรงงานแป้งมัน โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานผลิตภัณฑ์กระดาษ โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง โรงงานสี ทินเนอร์ โรงงานพลาสติก ตลอดจนโรงงานห้องเย็น และโรงงานผลิตน้ำแข็งที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นที่อาจมีการรั่วไหลจากที่เครื่องจักรทำงานหนักในช่วงหน้าร้อนนี้ เป็นต้น
กระทรวงฯได้วางแนวทางป้องกันอัคคีภัย แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ1.ได้รณรงค์การป้องกันอัคคีภัยทั่วประเทศภายใต้โครงการ Safety Thailand ที่บูรณาการการทำงานกับกระทรวงต่างๆ โดยมี กรอ.จัดทำแบบตรวจสอบประเมินตนเอง (Self Check List) การป้องกันอัคคีภัย และร่วมมือกับ อสจ.ทำการตรวจสอบประเมินให้คำแนะนำแก่โรงงานที่มีความเสี่ยงในพื้นที่จังหวัดของตนเอง 2.กรอ.ได้จัดทำ “ข้อปฏิบัติการป้องกันอัคคีภัยช่วงหน้าร้อน” และ “ข้อควรระวังในการใช้ระบบความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น” และคู่มือเอกสารความปลอดภัยต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ กรอ.(www.diw.go.th) 3.ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบ ถ่ายทอด ให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME เช่น ระบบไฟฟ้า ความปลอดภัยหมอน้ำ สารเคมี การบริหารความปลอดภัย และการจัดทำแผนฉุกเฉิน และ 4.กรอ.ได้ร่วมกับที่ปรึกษามหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาระบบ หลักเกณฑ์การป้องกันอัคคีภัยสำหรับ SME ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาความปลอดภัยในโรงงาน โดยจะมีการอบรมให้ความรู้และพัฒนาโรงงานนำร่องซึ่งจะมีโรงงานเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 100 ราย ทั้งนี้ระบบและหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะได้นำมาขยายผลเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันอัคคีภัยต่อไป” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย เปิดเผยต่อไปว่า สาเหตุของการเกิดไฟไหม้ อันดับ 1 ไฟฟ้าลัดวงจร อันดับ 2 เครื่องจักร/อุปกรณ์ชำรุด และความประมาท อันดับ 3 สาเหตุอื่นๆ เช่น เสาไฟฟ้าชำรุด ปฏิกิริยาเคมี และการไหม้จากภายนอกโรงงาน
สำหรับสถิติการเกิดไฟไหม้โรงงานตั้งแต่ตุลาคม 2559-กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า เกิดขึ้นจำนวน 32 ครั้ง แบ่งเป็น 8 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มโรงงานสิ่งทอ เส้นใยพืช จำนวน 7 แห่ง 2) กลุ่มโรงงานพลาสติก กระดาษ จำนวน 5 แห่ง 3) กลุ่มโรงงานโลหะ โรงงานไม้ โรงงานยาง จำนวน 7 แห่ง 4) กลุ่มโรงงานกากขยะ ขยะรีไซเคิล จำนวน 4 แห่ง 5) กลุ่มโรงงานอาหาร จำนวน 5 แห่ง 6) กลุ่มโรงงานประกอบ ดัดแปลงเครื่องจักร จำนวน 1 แห่ง 7) กลุ่มโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และพลังน้ำ จำนวน 2 แห่ง 8) กลุ่มโรงงานเครื่องสำอางค์ จำนวน 1 แห่ง
ข่าวทั่วไป : ปลัดฯอุตสาหกรรมเผยสถิติ 5 เดือน ไฟไหม้โรงงาน 32 แห่ง!!
business highlight online : post 30 มีนาคม 2560 เวลา 21.15 น.