นายกฯยืนยันรัฐบาลหนุน SME แต่ขอให้ผู้ประกอบการปรับตัว

1628

business highlight online : วันที่ 10 มีนาคม 2560 ณ ห้องเพลนนารี่ ฮอลล์ 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน SME Revolution : เส้นทางสายโอกาส SME 4.0 พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เปิดวิสัยทัศน์และมาตรการพลิกโฉม SME ตามแนวประชารัฐสู่ Thailand 4.0” จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้สนับสนุนการจัดงาน ผู้บริหารภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ประกอบการ SME และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า SME มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ การพัฒนาส่งเสริม SME ของไทยในวันนี้ถือเป็นความสำคัญ  เพราะเราต้องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย  ถ้าไม่มีการพัฒนา ประชาชนในทุกระดับ ทุกอาชีพ ทุกรายได้ ก็จะไปด้วยกันไม่ได้ จึงได้เกิดกลไกประชารัฐขึ้นในทุกระดับ ซึ่ง SME ก็มีกลไกเช่นนี้ โดยมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น  เพื่อให้มีรายได้ นำมาลดความเหลื่อมล้ำของภาคประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคม  พร้อมกับต้องยกระดับรายได้ประชาชนให้พ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการคิดใหม่ เดินใหม่ มีวิธีบริหารจัดการใหม่ ที่อยู่ในยุทธศาสตร์การบริหารจัดการของรัฐบาล ที่จะต้องขับเคลื่อนให้ได้ในทุกมิติ ทั้งนี้ เรามีโอกาส มีความได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางภูมิศาสตร์ของอาเซียน รวมทั้งมีความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้น ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย จะต้องเอาโอกาสมาเป็นโอกาส อย่าเอาโอกาสมาเป็นวิกฤต หรือเอาวิกฤตมาทำให้วิกฤตมากกว่าเดิม  ต้องทำเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นคุณค่ามากกว่าเน้นปริมาณเพื่อให้สามารถแข่งขันได้  อีกทั้งจะต้องเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ จึงอยากให้ SME พัฒนาปรับปรุงตัวเอง นำนวัตกรรมรูปแบบใหม่คิดออกมา เพื่อให้แข่งขันได้ โดยในส่วนของการผลิตสินค้าโอทอป ก็ควรมีการออกแบบโดยนำอัตลักษณ์ วัฒนธรรมมาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มประเทศประชาคมโลกแต่ละภูมิภาคที่เป็นตลาดของไทย เพื่อให้ขายสินค้าได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงนโยบายด้านการพัฒนาว่า ได้เน้นนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายพื้นที่ เพราะไม่สามารถรวมศูนย์เป็นจุดเดียวได้อีก ต้องพัฒนาประเทศในลักษณะภูมิภาคโดยเพิ่มจาก 4 ภูมิภาคเป็น 6 ภูมิภาค โดยในการบริหาร ผู้ว่าราชการจังหวัดจะนำไปสู่กลุ่มจังหวัด จังหวัด ชุมชน และท้องถิ่นในทุกกิจการที่รัฐบาลดำเนินการทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งในวันนี้รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่าง เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภูมิภาค CLMV และมีการติดตามเร่งรัดการดำเนินการ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจเป็นสำคัญ รวมทั้งนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC ก็เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมโยงมาขนาดกลาง ขนาดเล็ก ซึ่ง SME ก็อยู่ในห่วงโซ่นี้ทั้งสิ้น โดยจะมีการเสริมเพิ่มเติมด้วยนโยบายพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษดิจิทัล สมาร์ทซิตี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และสามารถเติบโตไปสู่ภูมิภาคอาเซียนและสู่โลกได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสินค้าที่ส่งออกด้วย SME ประมาณ 80-90% จึงต้องส่งเสริม SME ให้ดี ให้มีการพัฒนาตัวเองในกรอบที่รัฐบาลกำหนดออกมา โดยในปี 2560 รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน 6 มาตรการ รวมทั้งมีสิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการให้กับผู้ประกอบการ มีกองทุนดูแล SME และมีการปรับโครงสร้างการทำงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ใหม่ทั้งหมด ซึ่งมาตรการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวจะต้องรองรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจทั้งหมด

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาของ SME ไทยว่า ยังไม่เข้มแข็งมากพอ โดยเฉพาะ SME ระดับฐานรากวิสาหกิจชุมชน ที่จะต้องพัฒนาตัวเองให้เข้มแข็ง อยู่รอดให้ได้ท่ามกลางแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SME ของไทยโดยเฉพาะภาคการเกษตร ยังขาดจิตวิญญาณในการประกอบธุรกิจ เพราะยังไปติดอยู่กับการรับจ้าง ติดกับการผลิตพื้นฐาน เมื่อผลิตเสร็จก็ขายหมด ไม่มีการนำไปคิดทำประโยชน์ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการปรับตัวตรงนี้ด้วย เพราะกิจการผลิตภาคการเกษตรมีความสำคัญที่สุด รัฐบาลจึงได้ส่งเสริมการเกษตรตามแนวทางประชารัฐ ให้มีการผลิตเอง แปรรูปเอง ขายเอง เพื่อเป็นทางเลือก นอกจากนี้ SME ยังประสบข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อขยายกิจการ ไม่สามารถขยายตัวได้ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้ SME เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น รวมทั้งได้ออกมาตรการอีกหลายมาตรการเพื่อให้ SME ได้พัฒนาตัวเอง

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่า รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้ง SME ขนาดเล็ก ขนาดกลาง SME ที่ล้มละลาย หรือ SME ที่มีศักยภาพพร้อมจะขยายตัว โดยจะจัดแบ่งการช่วยเหลือเป็นกลุ่มเป้าหมายและกองทุน ซึ่งการทำงานวันนี้เป็นการดำเนินงานตามกรอบนโยบายของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมจะทำทุกอย่างที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกภาคส่วน

SMEs : นายกฯยืนยันรัฐบาลหนุน SME แต่ขอให้ผู้ประกอบการปรับตัว

business highlight online : post 10 มีนาคม 2560 เวลา 21.05 น.