business highlight online : นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โพสต์ข้อความลงเพจ Tevin at PTT เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 เวลา 20:09 น. เรื่อง “อริยสัจ 4” กับพลังงานไทย – “สมุทัย” อะไรคือสาเหตุของปัญหา โดยแสดงทัศนะต่อปัญหาพลังงานของไทยอย่างน่าสนใจและลึกซึ้ง โดยอิงหลักพุทธศาสนา ความว่า
ผมได้เคยนำเสนอเรื่อง “ทุกข์” ซึ่งเป็นจุดเริ่มของแนวทางการแก้ปัญหาพลังงานไทยด้วยหลักธรรม “อริยสัจ 4” ไปก่อนหน้านี้แล้ว วันนี้ขอมาต่อกันที่สาเหตุของทุกข์/ปัญหา หรือ สมุทัย ครับ
เมื่อเราตั้งโจทย์ว่าทุกข์/ปัญหาของประเทศคือ มีพลังงานไม่พอใช้ ต้องนำเข้าพลังงานจนเสียดุลสุทธิจากการนำเข้า ซึ่งเคยพุ่งขึ้นไปสูงถึงกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปีในช่วงราคาน้ำมันดิบโลกอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลแล้ว วันนี้เรามาพิจารณาสาเหตุของปัญหากัน โดยผมขอเริ่มเสนอความจริงเกี่ยวกับปัญหาไว้ 3 ประการดังนี้
ประการแรก คือทรัพยากรธรรมชาติด้านปิโตรเลียม (หมายถึงน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ) ของประเทศเราเอง ที่มีศักยภาพไม่มากนัก ผลจากการสำรวจโดยบริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่าโครงสร้างแหล่งปิโตรเลียมทางธรณีวิทยาของไทยมีขนาดเล็ก บาง และกระจายตัว ไม่ต่อเนื่องถึงกัน ทำให้เกิดการกักเก็บเป็นแหล่งย่อยๆที่แต่ละแหล่งมีขนาดไม่ใหญ่ และจะต้องใช้ต้นทุนสูงในการพัฒนาและเจาะหลุมเป็นจำนวนมาก ปริมาณสำรองที่พบและพิสูจน์แล้ว (Proved Reserves = ความมั่นใจ 90% ว่ามีอยู่จริง) ของไทยอยู่ในอันดับ 53 (น้ำมัน) และ 43 (ก๊าซฯ) ของโลกเท่านั้น
ประการที่สอง คือการใช้พลังงานของคนไทยเอง ทั้งที่เป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานสุทธิ แต่จากการเปรียบเทียบประเทศต่างๆทั่วโลก พบว่าไทยกลับใช้ปิโตรเลียมสูงเป็นอันดับที่ 18 (น้ำมัน) และ 13 (ก๊าซฯ) จัดอยู่อยู่ในกลุ่มสุดท้าย (bottom quartile) ที่มีอัตราการใช้พลังงานต่อ GDP สูงสุด และเมื่อเปรียบเทียบอายุของปริมาณสำรองที่พบและพิสูจน์แล้วของไทย หากผลิตในระดับปัจจุบันและไม่ลงทุนเพื่อพิสูจน์เพิ่มเติม ก็จะมีอายุเพียง 7 ปี ซึ่งอยู่ในกลุ่มสุดท้ายเช่นกัน
ประการที่สาม คือการบริหารจัดการด้านพลังงานของไทยที่ขาดความต่อเนื่อง แม้จะมีการวางแผนพลังงานของประเทศเพื่อความมั่นคงในระยะยาว แต่ในการดำเนินการตามแผนมักจะมีอุปสรรคหลายประการ ด้านหนึ่งเกิดจากนโยบายทางการเมือง ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง และหลายครั้งให้ความสำคัญกับปัญหาระยะสั้น ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนและความล่าช้าในการปฏิบัติ อีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการที่สังคมไม่เข้าใจ ขาดความรู้ด้านพลังงาน รวมทั้งไม่เชื่อมั่นต่อระบบการกำกับดูแล หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการด้านพลังงาน ทำให้เกิดกระแสต่อต้านนโยบายพลังงานในด้านต่างๆ โดยพยายามนำแนวปฏิบัติของบางประเทศมาอ้างอิงเปรียบเทียบ
มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่มักถูกนำมาเปรียบเทียบกับเรา มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะเขาเป็นประเทศส่งออกพลังงาน เคยมีรายได้จากการส่งออกสุทธิประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วอยู่ที่อันดับ 28 (น้ำมัน) และ 21 (ก๊าซ) และมีอายุการผลิต 14.2 ปี (น้ำมัน) และ 27 ปี (ก๊าซ) ตามลำดับ หรือเป็น 9.5 เท่า (น้ำมัน) 5.3 เท่า (ก๊าซธรรมชาติ) ของไทย จึงเห็นได้ว่ามีฐานทรัพยากรที่ธรรมชาติสะสมมาให้แตกต่างจากเรา และไม่น่าจะเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาของเราได้
เพื่อนๆครับ จากความจริงทั้งสามประการข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า การ “หลง” คือเชื่อหรือหวังว่าจะมีในสิ่งที่เราไม่มี และความ “โลภ” ที่อยากใช้มากๆในราคาถูกๆสำหรับสิ่งที่เรามีไม่พอ ได้นำไปสู่ความ “ขัดแย้ง” ทางความคิดและพยายามเอาชนะโดยไม่ไตร่ตรองเหตุผล ซึ่งดูจะเป็นการสร้างปัญหาให้ทับถมรุนแรง มากกว่าการแก้ที่สาเหตุหลักของทุกข์
ผมเชื่อว่า หากสังคมมี “สติ” ตื่นรู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง เราน่าจะมีความรู้และสามารถใช้ “ปัญญา” พิจารณาแสวงหาทางออกร่วมกันได้
ขอบคุณที่ติดตามอ่านจนจบนะครับ ขอความเห็นเพื่อนๆมาแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยกันหาสาเหตุแห่งทุกข์ของเราให้ครบถ้วนรอบด้าน ก่อนที่จะคุยกันเรื่อง “นิโรธ” ทางออกปัญหาพลังงานไทยกันในตอนต่อไป
ช่วยกันแชร์ด้วยนะครับ เพื่อให้เกิดพลังร่วมในวงกว้าง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2560 นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ได้โพสต์ข้อความลงเพจ Tevin at PTT เรื่อง อริยสัจ 4 กับพลังงานไทย (1) – มองปัญหาพลังงานผ่านหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ความว่า “…มองอะไรก็มองแต่เพียงแง่เดียว ไม่มองไปในแง่ที่ว่า มันเป็นความจริงอย่างไร คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ของสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เรามองไม่ชัดเจนตามที่เป็นจริง เมื่อมองเห็นอะไรๆไม่ชัดเจนตามที่มันเป็นจริง ก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนในใจได้…” อ้างอิงจาก แหล่งเกิดความทุกข์ โดย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่มีศักยภาพน้ำมันและก๊าซมากเพียงพอต่อความต้องการใช้ แต่คนไทยก็โชคดีครับ ที่มีผู้วางรากฐานด้านพลังงานที่เข้มแข็งไว้ต่อเนื่องตลอดเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้วันนี้เรามีพลังงานใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง เมื่อเปิดสวิทช์ ไฟฟ้าก็สว่าง ขับรถเข้าปั๊มก็มีน้ำมันให้เติม และจะว่าไปแล้ว เราแทบไม่เคยเจอวิกฤติขาดแคลนพลังงานเลย จะเดือดร้อนอยู่บ้างก็ช่วงที่ราคาน้ำมันผันผวน ตามราคาพลังงานในตลาดโลก
จากความสะดวกสบายนี้เอง ทำให้เราอาจจะขาดสำนึกในเรื่องคุณค่าของพลังงาน คนไทยใช้พลังงานอย่างไม่ระมัดระวัง ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นอันดับท้ายๆของโลก หลายคนคิดว่าปัญหาคือ “ราคาน้ำมันแพง” โดยเอาราคาไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งออกพลังงาน เราลืมไปว่า “การไม่มีพลังงานใช้” ต่างหาก จะเป็นความเดือดร้อนที่สร้างทุกข์อย่างแท้จริง ทั้งหมดนี้ ดูจะเป็นการมองปัญหาพลังงานเป็นเรื่องส่วนตัว ต้องการใช้พลังงานมากๆในราคาถูก มากกว่าเป็นเรื่องส่วนรวมของประเทศ ที่ต้องสูญเสียเงินนำเข้าพลังงานเป็นมูลค่ามหาศาลทุกๆปี
จากที่ผมทำงานด้านพลังงานมา 30 กว่าปี ได้เห็นความตั้งใจของบุคลากรในแวดวงพลังงานที่ต้องการสร้างความมั่นคงในระยะยาวให้กับคนไทย แต่ติดขัดด้วยการต่อต้านและความเห็นแย้งจากสังคมบางส่วนที่ไม่ได้มองปัญหาระยะยาวอย่างแท้จริง ผู้รู้จริงได้พยายามสื่อความ ให้ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาพลังงานไทย แต่ก็ยังไม่แพร่หลายในวงกว้าง เนื่องจากมีความซับซ้อนของรายละเอียดทางเทคนิคมากมาย เข้าใจได้ยาก จึงจะขอลองนำหลักธรรม “อริยสัจ 4” ซึ่งคือการใช้ปัญญาแก้ปัญหา มาทำความเข้าใจ “ทุกข์” วิเคราะห์สาเหตุ “สมุหทัย” ค้นหาทางแก้ปัญหา “นิโรธ” เพื่อลงมือปฏิบัติและแก้ไขปัญหา “มรรค”
อริยสัจ 4 จะนำมาวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาพลังงานได้อย่างไรนั้น ผมจะทยอยเขียนในเพจนี้ต่อไป ลองติดตาม และช่วยให้ความเห็น เพื่อจะได้ร่วมกันค้นหาและปฏิบัติ “มรรค” ของทุกข์ด้านพลังงานกันครับ
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ได้โพสต์ข้อความลงเพจ Tevin at PTT เรื่อง อริยสัจ 4 กับพลังงานไทย (2) – ทุกข์ของพลังงานไทยอยู่ตรงไหนกันแน่? ความว่า
“ทางแก้ทุกข์ที่ถูกต้อง คือปฏิบัติตนให้รู้ว่า ทุกข์เกิดแล้ว ทุกข์เกิดจากอะไร เราต้องศึกษาค้นคว้า จะหมดโง่ หมดงมงาย หมดหลงใหลในเรื่องต่างๆ” – หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
ตามที่สัญญากันไว้ครับ ผมขอนำหลักธรรมของพระพุทธองค์ คือ อริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่ว่าด้วยทุกข์ และการดับทุกข์มาวิเคราะห์และหาทางแก้ไขปัญหาพลังงานไทย สำหรับตอนนี้จะเริ่มด้วยเรื่องทุกข์กันก่อน
ทุกข์ (Suffering หรือ Problem) ด้านพลังงานของไทย คืออะไรกันแน่ครับ?
– ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม LPG NGV ค่าไฟฟ้า แพงเกินไป
– ราคาผันผวนตามภาวะตลาดโลก คาดการณ์ยาก
– ไฟฟ้าดับ ขาดแคลนก๊าซ ไม่มีน้ำมันเติม
– ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ไม่มีปั๊มน้ำมัน ไม่มีร้านขายก๊าซ ไฟฟ้าไปไม่ถึง
– เรามีทรัพยากรน้อย ผลิตพลังงานจากในประเทศไม่เพียงพอความต้องการใช้
– ประเทศเสียดุลจากการนำเข้าน้ำมันและก๊าซเป็นมูลค่ามหาศาล
– การจัดหาพลังงานในอนาคตมีความเสี่ยง เพราะต้องพึ่งพาการนำเข้า
อย่างที่เคยเกริ่นไว้ครับ ประเทศเรามีการบริหารจัดการพลังงานในอดีตที่ดีมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เราจึงไม่เคยเผชิญกับภาวะขาดแคลนพลังงานอย่างรุนแรง ทั้งที่เราพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศมากกว่าที่เราผลิตได้เอง เข้าปั๊มมีน้ำมันเติม เปิดสวิทช์ไฟมีแสงสว่าง ไฟฟ้าและปั๊มน้ำมันมีทั่วประเทศ แวบแรกจึงคิดว่าทุกข์ด้านพลังงานสำหรับตัวเราคือเรื่องราคา ที่ดูจะสูงกว่าบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เขาส่งออกพลังงาน
แต่หากคิดให้ละเอียดและมองภาพใหญ่ขึ้นในมุมของประเทศชาติแล้ว การผลิตพลังงานได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนน่าจะเป็นทุกข์ของประเทศที่แท้จริงครับ เพราะผลที่ตามมาคือประเทศเราต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานในทุกรูปแบบ เกิดความผันผวนของราคาตามภาวะตลาดโลก เราเสียเงินเพื่อนำเข้าพลังงานสุทธิปีละหลายแสนล้าน และมีความเสี่ยงอย่างยิ่งในการวางแผนที่จะจัดหาพลังงานมาให้คนไทยใช้อย่างเพียงพอในระยะยาว
เพื่อนๆคิดอย่างไร มาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เพื่อสร้างความเข้าใจทุกข์หรือปัญหาที่แท้จริง จะได้แก้ได้ถูกจุดนะครับ
พลังงาน : ซีอีโอ ปตท. โพสต์ให้แง่คิดคนไทยด้านพลังงานด้วย “อริยสัจ 4”
business highlight online : post 20 มีนาคม 2560 เวลา 11.35 น.