business highlight online : 22 กรกฎาคม 2566 สภาผู้บริโภค เผยภาพรวมปัญหาผู้บริโภคทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 2566 ใน 3 ไตรมาส (1 ต.ค.65 – 30 มิ.ย.66) ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 13,065 กรณี คิดเป็นมูลค่าความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภค 34.8 ล้านบาท เร่งระดมความเห็นเสนอ 8 แนวทางแก้ปัญหา มิจฉาชีพแก๊งคอลเซนเตอร์สร้างความเสียหายกว่า 7 หมื่นล้านบาท ในปี 2565
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า หมวดปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุด ใน 3 ไตรมาสปี 66 ได้แก่ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 7,905 กรณี คิดเป็นร้อยละ 60.51 ส่วนใหญ่เป็นกรณีบริการบันเทิงของเรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ในปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงผังคอนเสิร์ต การสมัครสมาชิกแล้วไม่ได้รับสิทธิตามที่ระบุ การจัดงานที่ไม่ตรงตามโฆษณา รวมถึงกรณีโดนหลอกจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งกรณีที่ผู้บริโภคโดนเอาเปรียบจากการใช้บริการบันเทิง สภาผู้บริโภคได้ติดต่อและประสานงานกับบริษัทที่ถูกร้องเรียน ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและแนวทางการชดเชยเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งการเสนอให้บริษัทออกนโยบายที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติเรื่องการทำสัญญาระหว่างภาคธุรกิจกับผู้บริโภค ถึงข้อกำหนดสิ่งที่ต้องระบุในสัญญาและสิ่งที่ห้ามระบุในสัญญา ส่วนกรณีซื้อสินค้าออนไลน์ทางสภาผู้บริโภคได้ให้คำปรึกษาผู้บริโภคถึงช่องทางและแนวทางการแจ้งความ รวมถึงช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย
ปัญหาผู้บริโภคที่มีผู้ร้องเรียนมากเป็นอันดับที่ 2 คือด้านการเงินและการธนาคาร 1,768 กรณี หรือร้อยละ 13.53 โดยส่วนใหญ่เป็นกรณีการทำประกันภัยโควิด – 19 สภาผู้บริโภคได้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาให้ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องคดีด้วยตนเอง ในกรณีที่บริษัทฯ ที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนได้ และเตรียมฟ้องคดีให้กับผู้บริโภค ส่วนกรณียื่นฟ้องทิพยประกันภัยขอยื่นเป็นคดีกลุ่มอยู่ระหว่างศาลนัดไต่สวนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย และบริษัททิพยประกันภัย สามารถติดตามความคืบหน้าได้ทางเพจสภาองค์กรของผู้บริโภค
อันดับที่ 3 ของการร้องเรียน คือปัญหาด้านบริการสุขภาพ 1,333 กรณี หรือร้อยละ 10.20 ส่วนใหญ่เป็นกรณีผู้บริโภคซื้อบริการสุขภาพเป็นคอร์สที่จะได้ใช้บริการตามจำนวนครั้งที่ตกลงไว้ และได้จ่ายค่าบริการล่วงหน้าไปแล้ว ยังใช้บริการไม่ครบตามกำหนด สภาผู้บริโภคจะเป็นตัวแทนผู้บริโภคในการฟ้องร้องเป็นคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ซึ่งจะมีการนัดหมายเพื่อเตรียมข้อมูลและหลักฐานต่อไป ส่วนเรื่องร้องเรียนที่เหลือมีทั้งการร้องเรียนปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน รวมถึงเอสเอ็มเอส (SMS) หลอกลวง การร้องเรียนผลิตภัณฑ์ที่ใช้คำอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และยังมีเรื่องรถรับส่งนักเรียนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นต้น
สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน หรือพบปัญหาผู้บริโภค สามารถปรึกษา – ร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคได้ที่ เว็บไซต์ www.tcc.or.th เฟซบุ๊กอินบ็อกซ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค ไลน์ออฟฟิเชียล @tccthailand อีเมล complaint@tcc.or.th หรือโทรศัพท์ 02 239 1839
ส่วนประเด็นปัญหา มิจฉาชีพแก๊งคอลเซนเตอร์สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและผู้บริโภคต่อเนื่อง ในปี 2565 มีกว่า7 มื่นล้านบาท สภาผู้บริโภค ได้จัดเวทีระดมความคิดและขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เมื่อเร็วๆนี้ และเสนอ 8 ข้อเสนอ “แก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน” ได้แก่ เสนอให้กระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส )จัดตั้งศูนย์อำนวยการในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน เช่นเดียวกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศบค.),ขอให้กระทรวงดีอีเอสแต่งตั้งผู้แทนผู้บริโภคอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566,ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. )ติดตามการปฏิบัติการของธนาคารให้เป็นไปตาม พ.ร.ก. หากไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.ก. ธนาคารควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น,ธปท.จะต้องควบคุมหลักเกณฑ์การโอนเงินระหว่างประเทศให้มีจำนวนเงินขั้นต่ำเสนอเรื่องการป้องกันจากการเปิดบัญชีออนไลน์ รวมถึงการเปิดบัญชีธนาคารผ่านร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากเปิดบัญชีง่ายทำให้มีบัญชีม้า และขอให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควบคุมและจำกัดการเปิดใช้ซิมโทรศัพท์มือถือ ต่อ 1 หมายเลขบัตรประชาชน ขอให้สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สร้างกลไกการแจ้งเตือนเมื่อผู้บริโภคโอนเงินไปยังบัญชีมิจฉาชีพที่มีการแจ้งระงับไว้แล้ว (บัญชีม้า) และตำรวจต้องดำเนินคดีกับมิจฉาชีพที่ถูกจับกุมจากกรณีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อให้เป็นตัวอย่าง
Advertisement