ธ.ก.ส. เดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือน “สินเชื่อแทนคุณ” แก้ปัญหา Aging ลูกค้า

82

business highlight online : 26 กรกฎาคม 2566 ธ.ก.ส. ร่วมสมาคมแบงก์รัฐ แก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ด้วยสินเชื่อแทนคุณ วงเงิน 20,000 ล้านบาท แก้ปัญหา Aging ลูกค้า วางเป้าดึงทายาท 42,000 คน ร่วมจัดการหนี้

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ดำเนินนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนสอดรับกับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยแบ่งกลุ่มลูกหนี้ตามศักยภาพเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ปกติ กลุ่มลูกหนี้ Hybrid และกลุ่มลูกหนี้ NPL และจัดทำเครื่องมือหรือวิธีการแก้ไขหนี้ให้สอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริงของลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม ควบคู่กับการเสริมความรู้ ทางการเงิน เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพและยกระดับรายได้

ได้วางแนวทางป้องกันไม่ให้หนี้ดีกลายเป็นหนี้เสียผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการชำระดีมีคืน โดยคืนดอกเบี้ยในร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง วงเงินดอกเบี้ยที่จ่ายคืนไปแล้ว 2,840 ล้านบาท มีลูกค้าได้รับประโยชน์ 2.58 ล้านราย มาตรการทางด่วนลดหนี้ มาตรการจ่ายน้อย ผ่อนคลายได้ลดดอกเบี้ย ปี 2565 มาตรการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วน (จ่ายดอก ตัดต้น) มาตรการปรับตารางชำระหนี้ (จ่ายต้น ปรับงวด) และแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีหนี้อันเป็นภาระหนัก รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพ โดยพัฒนาอาชีพและเสริมสภาพคล่องในการลงทุน เพื่อประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ การดำเนินงานตามแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ช่วยแก้ปัญหาหนี้ NPL ภาคการเกษตร ลดลงจากร้อยละ 14.6ไปอยู่ที่ร้อยละ 7.68 ณ 31 มีนาคม 2566

ในส่วนของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งระบบ ตั้งแต่งวด เม.ย. 2563 ถึงงวด มี.ค. 2564 เป็นระยะเวลา 1 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการ 3 ล้านราย ต้นเงิน 938,466 ล้านบาท โครงการพักชำระหนี้โควิดภาคสมัครใจ และการจ่ายสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น วงเงินรายละ ไม่เกิน 10,000 บาท มีผู้ได้รับสินเชื่อไปแล้วทั้งสิ้น 913,548 ราย วงเงิน 9,086 บาท ปัจจุบันยังมีหนี้คงค้างในกลุ่มดังกล่าว จำนวน 336,486 ราย จำนวนเงินคงค้าง 2,193 ล้านบาท

ด้านปัญหา Aging ของลูกค้า ธ.ก.ส. ปัจจุบันมีจำนวนประมาณร้อยละ 35 ของลูกค้าทั้งหมด ธ.ก.ส. ได้จัดทำ โครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพื่อโอนทรัพย์สินและหนี้สินให้กับทายาท เพื่อเปิดโอกาสให้ทายาทเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนและร่วมรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว แบ่งเป็นสัญญาต้นเงิน (รวมต้นเงินเดิม) อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – 5 เท่ากับ MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) ปีที่ 6 – 10 เท่ากับ MRR-1 และปีที่ 11 เป็นต้นไป เท่ากับ MRR-2 กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี พิเศษไม่เกิน 20 ปี และสัญญาต้นเงิน (รวมดอกเบี้ยเดิม) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี ตั้งเป้าทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 42,000 คน

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า การแก้ไขหนี้ครัวเรือน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ (สศป.) ธปท. ร่วมกับ ธ.ก.ส. จัดทำโครงการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการชำระดีมีโชค โดยลูกค้าที่ชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลาและจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระจริงทุก ๆ 1,000 บาท จะได้รับสิทธิ์ 1 สิทธิ์ ไปชิงโชครางวัลรวมมูลค่า 402 ล้านบาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มีนาคม 2567 พร้อมกับพัฒนาเครื่องมือและช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการ ธ.ก.ส. ได้ง่ายขึ้น เช่น การชำระหนี้ผ่านแอปพลิเคชัน A-Mobile Plus การชำระหนี้ผ่าน Banking Agent เป็นต้น ดังนั้น ขอให้เกษตรกรลูกค้าที่มีภาระหนี้สิน อย่ากังวลใจหรือปล่อยให้ปัญหาทับถม ขอให้เดินเข้ามาหาและปรึกษากับ ธ.ก.ส. ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. ที่จะเข้าไปช่วยตอบโจทย์การแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศและ Call Center 02 555 0555

Advertisement