แนะรัฐบาลใหม่ปฏิรูปข้าว-ชาวนาไทย หลัง 10 ปีชาวนาไทยจนเพิ่ม-หนี้ท่วม

104

business highlight online : 26 กรกฎาคม 2566 ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ แนะรัฐบาลใหม่ปฏิรูปข้าวและชาวนาไทยแทนการแทรกแซงราคา หลัง 10 ปี ชาวนาไทยจนเพิ่มหนี้ท่วม

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยฝากถึงรัฐบาลใหม่ให้ช่วยแก้ปัญหาชาวนา แก้ปัญหาข้าวให้ตรงจุด หลังพบว่าในช่วง 10 ปี (2555-2565) ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยลดลง จากการศึกษาพบว่าผลผลิตข้าวไทยต่ำกว่าเวียดนามสามเท่า (ไทยเฉลี่ย 450 กิโลกรัมต่อไร่เวียดนามกว่า 1000 กิโลกรัมต่อไร่หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่) ที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 2000 บาทต่อไร่แต่รายได้กลับลดลงเกือบ 800 บาทต่อไร่ ชาวนาไทยมีอาชีพทำนาแต่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพขณะที่เวียดนามคือชาวนาอาชีพจากชาวนาไทยส่วนใหญ่คิดแค่ 2 เรื่องคือราคากับผลผลิตไม่คิดเรื่องการปรับลดต้นทุน ชาวนาไทยปลดหนี้โดยขายที่นา ชาวนาขาดทุนสะสมจากการทำนาต้องขายที่นาและเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ นโยบายของรัฐที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้ ไทยประสบปัญหาแหล่งน้ำไม่พร้อมและปัญหาโลกร้อน เงินวิจัยน้อยไทยส่งเงิน 200 ล้านบาทในการวิจัยแต่เวียดนามส่เงิน 3000 ล้านบาทส่วนอินเดียจีนและญี่ปุ่นใส่เงินวิจัยข้าวมากกว่า 1,000,000,000 เหรียญต่อปี

นโยบายการแทรกแซงตลาดทำลายศักยภาพการแข่งขันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอยากแท้จริง คนไทยยิ่งทำนาหนี้ยิ่งเพิ่มเพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ลดลงราคาขายลดลง ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันไปรักสุขภาพมากขึ้นข้าวหอมและนุ่มเป็นที่ต้องการ เอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลงโดยเฉพาะความหอมความนุ่มเพราะมีการปลอมปนและเร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพและการควบคุมการกระจายพันธุ์ข้าวซึ่งการกระจายพันธุ์ข้าวเพื่อควบคุมคุณภาพข้าวเวียดนามทำได้ดีกว่าไทย

ดังนั้นไทยควรดูประเทศคู่แข่งเป็นกระจกสะท้อน ว่าเขาพัฒนาข้าวและชาวนาจนมีรายได้เป็นบวกได้อย่างไร เราไม่สามารถละเลยการมองตลาดโลกไม่สามารถละเลยศักยภาพของเรา ด้วยคำว่าไม่เป็นไรหากราคาข้าวตกต่ำก็เข้าไปแทรกแซง รัฐบาลควรนำเงินที่จะใช้แทรกแทรงราคาผลผลิตการเกษตรไปเป็นเงินรางวัลสำหรับเกษตรกรที่สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรหันกลับมามองและแก้ปัญหาจริงๆ ของชาวนา ไม่เช่นนั้นศักยภาพการแข่งขันของไทยจะถดถอยลง เพราะเรื่องข้าวคือระเบิดเวลา

“รัฐบาลใหมาควรแก้ปัญหาวงจรอุบาทว์ข้าวไทย ที่ชาวนามีต้นทุนสูง รายได้ต้ำ โดยการปฏิรูปข้าวไทยครบวงจร โดยใช้ 10 จุดอับ มาหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพราะข้าวไทยเปรียบเสมือนระเบิดเวลา นับวันจะมีแต่ถดถอยลง 10 ปีที่แล้วชาวนาไม่มีหนี้แต่ทุกวันนี้ ชาวนามีหนี้เพิ่มเฉลี่ยครัวเรือนละ 1-3 แสนบาท เป็นหนี้ ธกส. และร้านขายปัจจัยการผลิตและวัสดุการเกษตร ที่สำคัญไม่ควรแทรกแซงตลาด เพราะตลอด 20 ปีทีผ่านมา นโยบายของรัฐบาลไม่ว่ายุคไหนไม่ได้ทำให้เกษตกรมีรายได้สูงขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้เงินในกระเป๋าลดลง“ รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลใหม่ควรคิดเรื่องน้ำให้มากที่สุด เพราะนับจากนี้น้ำจะเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกร อาจจะพิจารณาให้ซอฟต์โลนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำของเกษตรกรและชุมชน

ส่วนการแก้หนี้เกษตรกรต้องเข้าไปสู่ปัญหาว่าแท้จริงแล้วคืออะไร ที่ผ่านมาเกษตรกรแก้หนี้โดยการขายที่นา เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ดังนั้น จึงควรมีการแก้ไขหนี้อย่างจริงจัง นโยบายที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน การแก้ปัญหาหนี้สินอย่างจริงจังก็คือลดต้นทุนการผลิต ยกระดับผลผลิตต่อไร่ให้ได้ ไม่เฉพาะข้าวยังรวมถึงการเกษตรอื่นๆ และไทยควรเน้นเน้นข้าวพรีเมี่ยม ข้าวออแกนิค ข้าวสุขภาพ และทำให้ข้าวหอมมะลิกลับมาหอมดังเดิม เพราะทุกวันนี้ข้าวหอมมะลิกลิ่นหอมน้อยลง จากการเร่งรีบการผลิต

อย่างไรก็ตามข้าวไทยยังมีโอกาส เพราะปีนี้เวียดนามลดการส่งออกข้าว ประกอบกับหลายประเทศเจอภัยแล้ง รวมถึงปัญหารัสเซียถอนตัวจากจ้อตกลงทะเลดำ ทำให้ข้าวสาลีจากยูเครนไม่มีในตลาดโลก จึงนับเป็นโอกาสของข้าวไทยที่จะเข้าไปทดแทนข้าวสาลี แต่ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเอลนิญโญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต อาจทำให้ไม่สามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้า

และหากตั้งรัฐบาลได้ช้ากว่าเดือนสิงหาคม การส่งออกไทยอาจจะติดลบได้ถึง 2% เพราะขาดงบประมาณทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ ดังนั้นควรจึงต้องมีการตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สำคัญยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติอาจย้ายไปลงทุนประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ภายใต้ฉากทัศน์การตั้งรัฐบาลล่าช้า จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตใกล้เคียงกับเมียนมาคือ แค่ 2 กว่าๆ ซึ่งโตช้าที่สุดในอาเซียน

Advertisement