กรมการค้าภายในเตรียมแผนดูแลค่าครองชีพประชาชนต่อ รมว.พณ.คนใหม่

76

business highlight online : 29 สิงหาคม 2566 อธิบดีกรมการค้าภายในเตรียมแผนดูแลค่าครองชีพประชาชนและสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ผลิต เกษตรกรและผู้บริโภคต่อรัฐมนตรีพาณิชย์คนใหม่เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ส่วนปัญหาหลายฝ่ายกังวลราคาข้าวสารถุงขึ้นนั้น กรมฯคุยกับโรงสี ขอความร่วมมือชะลอขายข้าวเพื่อป้องกันตลาดปั่นป่วน และขอสมาคมข้าวถุง เตรียมแผนกรณีจำเป็น เพื่อจัดทำข้าวถุงราคาหน้าโรงงานออกมาจำหน่าย ผ่านรถโมบายพาณิชย์ไว้แล้ว พร้อมร่วมมือออกตรวจโรงงานแช่แข็งสินค้าหมูเพื่อป้องกันหมูเถื่อนเข้าระบบ

นายวัฒนศักย์  เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่ากรมฯมีภารกิจรับผิดชอบดูแล 3 ส่วนสำคัญ ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และโดยเฉพาะพี่น้องประชาชน ยังคงเดินหน้าโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่อง ส่วนหากเกิดสถานการณ์ผิดปกติของราคาสินค้าใด ก็พร้อมจะเชื่อมโยงผลผลิตไปเสริมทันที เพื่อบรรเทาผลกระทบ ซึ่งมีกลไกสำคัญ คือ รถโมบายพาณิชย์ลดราคา 100 คัน ในกรุงเทพและปริมณฑลทุกวัน และพื้นที่ต่างจังหวัดตามสถานการณ์ โดยแผนงานต่างๆเหล่านี้ กรมฯได้จัดทำแผนงานต่างๆไว้แล้วเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่แล้ว ซึ่งจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมคงจะต้องรอนโยบายจากทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ กรมฯยังได้ติดตามราคาข้าวเปลือกในประเทศแม้ว่าปรับสูงขึ้นขณะนี้ ซึ่งถือว่าส่งผลดีตรงต่อพี่น้องเกษตรกรโดยสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนได้ดี แต่ส่วนนี้อาจกระทบให้ราคาข้าวถุงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามนั้น โดยเบื้องต้นได้หารือกับโรงสี ขอความร่วมมือไม่ให้ชะลอการขายข้าวเพื่อป้องกันตลาดปั่นป่วน และอาจจะเข้าข่ายการกักตุนด้วย รวมทั้งหารือสมาคมข้าวถุง เตรียมแผนกรณีจำเป็น เพื่อจัดทำข้าวถุงราคาหน้าโรงงานออกมาจำหน่าย ผ่านรถโมบายพาณิชย์ หรือขายตามจุดต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ขณะที่ ปริมาณก็มีเพียงพอ โดยไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวสำคัญ ผลิตได้ปีละกว่า 20 ล้านต้นข้าวสาร แต่บริโภคไม่เกิน 10 ล้านตัน ยังเหลือเพื่อส่งออกปริมาณมาก และหากดูสถานการณ์การผลิต ยังลดลงไม่มาก ถือว่าใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งไม่มากนัก ส่วนหนึ่งอาจจะมีผลิตข้าวมาเติมจากพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น ทดแทนผลผลิตที่หายไปจากภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่การดูแลเรื่องข้าวเท่านั้น กรมฯนำทีมสารวัตรปศุสัตว์  และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบผู้ประกอบการห้องเย็นที่จัดเก็บเนื้อสุกร บริษัท พิชชามีทกรุ๊ป จำกัด เขตมีนบุรี ซึ่งมีการนำหมูซีกวันละ 200 ตัว เข้ามาตัดแต่งเพื่อส่งร้านต่างๆ  โดยจากการตรวจสอบเอกสารแหล่งที่มาของเนื้อหมู พบว่า มีแหล่งที่มาที่ไปชัดเจน ซึ่งรับซื้อส่วนหนึ่งจากโรงเชือดในจังหวัดราชบุรี และเล้าเลี้ยงรายย่อยของบริษัทรายใหญ่

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค AFS และปัญหาลักลอบการนำเข้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้คุมเข้มการตรวจสอบโดยเฉพาะปริมาณสต๊อกเนื้อหมู เพื่อไม่ให้เกิดการกักตุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งผู้เลี้ยง รวมถึงผู้บริโภคว่าจะไม่มีหมูจากแหล่งอื่นมาเจือปน ซึ่งจากการตรวจสอบทั้งหมด 421 ห้องเย็นทั่วประเทศ พบการกระทำผิด 14 ราย จำนวน 12 รายไม่แจ้งข้อมูลสต็อกมายังกรมการค้าภายในตามที่กฎหมายกำหนด และอีก 2 รายไม่มีใบประกอบอนุญาตห้องเย็น ซึ่งได้ดำเนินคดีกับทุกรายแล้ว และหลังจากนี้ จะเดินหน้าตรวจสอบห้องเย็นอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งคงมาตรการให้ผู้ประกอบการห้องเย็น แจ้งข้อมูลสต๊อกและแหล่งที่มาของเนื้อหมูทุกสัปดาห์ ทางด้านหน่วยงานปราบปราม ก็สกัดกั้นการลักลอบนำเข้าอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ ขณะที่การผลิตหมู กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เข้าสู่ตลาด 50,000 ตัวต่อวันมีปริมาณสูงกว่าปกติเล็กน้อย ส่งผลให้ราคาหมู ไม่มีการปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะช่วงนี้ เป็นช่วงเทศกาลสารทจีน โดยหมูเนื้อแดงเฉลี่ย 133 บาทต่อกิโลกรัมใกล้เคียงสัปดาห์ที่แล้ว แต่ถือว่าราคายังทรงตัวต่ำหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่กิโลกรัมละ 186 บาท และนอกจากจะคุมเข้มผู้ประกอบการค้าเนื้อหมูตั้งแต่กลางทาง ไปจนถึงผู้ค้าหน้าเขียง และห้างต่างๆ ซึ่งหากพบขายในราคาถูกผิดปกติ จะได้เร่งตรวจสอบทันที พร้อมเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นการบริโภคหมูให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำเป็นเมนูหมูหัน เพื่อตัดวงจรลูกหมู เพราะขณะนี้ผลผลิตหมูเข้าสู่ระบบเยอะกว่าปกติ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไม่ต้องมีภาระในการขุนหมู และให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

Advertisement