“เศรษฐา” เตรียมคุย FTA – เชงเกนวีซ่า

228

Business Highlight Online : 16 พฤษภาคม 2567 กระทรวงการต่างประเทศ – โฆษก กต. แถลงนายกฯ เยือนยุโรป เจรจา FTA และคุยเชงเกนวีซ่าให้ได้ข้อสรุปภายใน ปี 68 ขณะเตรียมคุยเอกชนญี่ปุนชวนลงทุนในไทย

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงภารกิจการเยือนต่างประเทศของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่า วันที่ 15-16 พฤษภาคม 2567 นายกรัฐมนตรีจะนำนักธุรกิจไทยเข้าร่วมงาน Thailand – France Business Forum & Roundtable ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลสำเร็จต่อเนื่องจากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี และนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในโอกาสเยือนเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยวัตถุประสงค์หลักของการจัดงาน คือ การส่งเสริมการค้าระหว่างกัน สนับสนุนให้ภาคเอกชนฝรั่งเศสเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น นายกรัฐมนตรี ยังมีกำหนดการที่จะพบหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส  เพื่อติดตามผลความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการค้าการลงทุน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และซอฟต์พาวเวอร์ การยกระดับความสัมพันธ์ไทยฝรั่งเศสสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ตามแผนการการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ฝรั่งเศส ค.ศ. 2022 – 2024

ส่วนวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2567 นายกรัฐมนตรี จะเยือนอิตาลี อย่างเป็นทางการ โดยจะพบหารือกับนางจอร์จา เมโลนี นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิตาลี และขยายความร่วมมือในสาขาที่ไทย และอิตาลี มีศักยภาพร่วมกัน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน การท่องเที่ยวเชิงกีฬา วิทยาศาสตร์การแพทย์ เภสัชกรรม และกลาโหม โดยนายกรัฐมนตรีจะผลักดันประเด็นสำคัญ เช่น การยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยในเขตเชงเกน และการเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ไทย – สหภาพยุโรป ให้สามารถสรุปภายในปี 2568 รวมถึงการรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลไปทำงานในอิตาลีในอนาคต  นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี จะหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนของอิตาลีด้วย

จากนั้น นายกรัฐมนตรี และคณะ จะเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ที่ญี่ปุ่น 22-24 พฤษภาคม 2567 โดยนายกรัฐมนตรีจะกล่าวปาฐกถาแสดงวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจของไทย ภายใต้หัวข้อ Asian Leadership in an Uncertain World เสนอให้เอเชียมีความร่วมมือสำคัญ ทั้งการเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุน  เสริมสร้างความยั่งยืนโดยเน้นเศรษฐกิจและพลังงานสีเขียว  การร่วมมือเพื่อเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และการปรับกระบวนทัศน์ของระบบพหุพาคีใหม่ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของเอเชีย และก้าวข้ามสถานการณ์โลกที่ผันผวนท้าทาย ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี จะใช้โอกาสนี้หารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่น เพื่อดึงดูดการลงทุนมายังประเทศไทย

Advertisement