ครม.ส่งไม้ต่อโซลาร์ภาคประชาชน

148

business highlight online : 11 กรกฎาคม 2566 ครม.ส่งไม้ต่อ “โซลาร์ภาคประชาชน” ขายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบ ราคารับซื้อ 2.20 บาท ยอมรับยังมีข้อจำกัด หวังให้รัฐบาลใหม่ช่วยสานต่อ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการศึกษาการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชน กรณีที่ให้ประชาชนส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้ในบ้าน นำส่งเข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ด้วยการให้ประชาชนนำกระแสไฟฟ้าที่เหลือใช้ ขายให้กับการไฟฟ้าฯ ในราคารับซื้อ 2.20 บาท

ยอมรับว่า จากผลศึกษามีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถให้ประชาชนส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป ได้แก่

1.ด้านระเบียบและข้อกฎหมาย การส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ในเดือนถัดไป เป็นการทำธุรกรรมซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชนและการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จึงเกิดภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งธุรกรรมการซื้อและการขาย ยังไม่มีระเบียบและข้อกฎหมายรองรับวิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลต่างของแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น จึงต้องขอยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จากอธิบดีกรมสรรพากร

2.ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้อง จะส่งผลกระทบทำให้แรงดันไฟฟ้าในระบบไม่สมดุล เนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์มีความผันผวนและไม่แน่นอน ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบเสียหาย ประสิทธิภาพและอายุการใช้งานลดลง

หากมีการผลิตไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสู่ระบบโครงข่ายเป็นจำนวนมาก จะต้องเปลี่ยนขนาดและพิกัดของอุปกรณ์ป้องกันในระบบไฟฟ้าใหม่ เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องมีระบบควบคุมและบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้าและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวม  และยังเพิ่มภาระแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์มิเตอร์มาเป็นแบบดิจิทัลมิเตอร์ เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าที่ไหลย้อนกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้าได้

3.ด้านผลกระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวม พบว่า ด้านต้นทุนของหน่วยไฟฟ้า จะแปรผันไปตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของแต่ละช่วงเวลา ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศต้องรับภาระต้นทุนจากการรับซื้อไฟฟ้าราคาสูงเพิ่มขึ้น จากผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อย หรือบ้านอยู่อาศัยที่ไม่สามารถติดตั้ง Solar Rooftop เนื่องจากต้นทุนส่วนเพิ่มจากการรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar Rooftop จะถูกกระจายกลับไปสู่ค่า Ft และยังเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

“ผลการศึกษาดังกล่าว ยอมรับว่า มีข้อขัดข้องในด้านระเบียบ ข้อกฎหมาย ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้อง จึงไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องใช้มาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) แบบเดิมไปก่อน หากในอนาคตมีการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จะมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนแฝง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้ง Solar Rooftop เพิ่มเติม” น.ส.ทิพานัน กล่าว

Advertisement