พร้อมรับ “เอลนีโญ” กฟผ.-พันธมิตรบริหารเขื่อน-โรงไฟฟ้า

145

business highlight online : 2 กรกฎาคม 2566 กฟผ. ร่วมกับทุกภาคส่วน เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำและโรงไฟฟ้ารับมือสภาวะเอลนีโญ พบทุกเขื่อนมีน้ำรวมกันเพียง 48% เฝ้าระวังเขื่อนที่เสี่ยงน้ำน้อย ปรับแผนให้มีสำรองเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศจนถึงปีหน้า

นายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการน้ำและโรงไฟฟ้าในภาวะที่มีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ เนื่องจากสภาพอากาศประเทศไทยได้เข้าสู่สภาวะเอลนีโญส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าปกติ ปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา สภาวะเอลนีโญจะอยู่ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 และทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะ 2 ปี และเตรียมแผนการจัดการน้ำระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว รองรับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต

สถานการณ์น้ำของเขื่อน กฟผ. ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 12 แห่ง รวม 29,720 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 48% ของความจุ เป็นปริมาณใช้งานได้ 8,027 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 21% ของความจุใช้งาน ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน 3,006 ล้านลูกบาศก์เมตร แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนมาแล้วกว่า 1 เดือน แต่ยังคงมีปริมาณน้ำเติมลงอ่างเก็บน้ำเพียงเล็กน้อย คาดว่าอิทธิพลเอลนีโญจะส่งผลกระทบให้น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำปริมาณน้อย โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง จากการประเมินสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่าในระบบ ONE MAP พบว่ามีโอกาสที่ปริมาณน้ำจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนจึงจำเป็นต้องปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)

กฟผ. ได้จัดเตรียมแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝน ประกอบด้วย

1.) ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนที่เสี่ยงต่อการมีปริมาณน้ำน้อย เช่น เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม จ.ชัยภูมิ 

2.) เตรียมความพร้อม ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน

3.) ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคัน ทำนบ พนังกั้นน้ำ

4.) เร่งกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำช่วงปลายฤดูฝน

5.) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน

6.) ติดตามและประเมินผลโดยยึดแนวทางการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์หลักในการใช้น้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ เกษตร อุตสาหกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ ตามลำดับ โดยมีการผลิตไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้จากการระบายน้ำตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้เตรียมแผนและปรับมาตรการการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับสภาวะเอลนีโญ เช่น การเพิ่มระบบน้ำสำรองจากน้ำบาดาล การจัดหาปั๊มสำหรับสูบถ่ายน้ำ การซ่อมแซมคลองส่ง-รับน้ำ วางแผนการผลิตไฟฟ้าให้สอดรับกับน้ำต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ควบคุมปริมาณการใช้น้ำดิบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นำน้ำที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการบำบัดน้ำเสียและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ตลอดจนรณรงค์ประหยัดการใช้น้ำในโรงไฟฟ้าและสำนักงาน ทั้งนี้เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกประเภท สามารถผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนอย่างมั่นใจในทุกสถานการณ์

Advertisement