บางจากฯ พร้อมร่วมมือรัฐ “ค่าการกลั่น” แต่ต้องรอบคอบ

180

business highlight online : 26 มิถุนายน 65 กระทรวงพลังงานถกโรงกลั่นอีกรอบพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.) ด้านบางจากฯ พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ต้องมีมาตรการเหมาะสมตอบคำถามผู้ถือหุ้นได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะรัฐปล่อยราคาพลังงานเป็นไปตามกลไกเสรีก่อนแย่ทั้งระบบ หนี้กองทุนฯ อาจแตะ 2 แสนล้านบาท

วันพรุ่งนี้ ​(27 มิ.ย.) กระทรวงพลังงานจะเชิญโรงกลั่นน้ำมันหารือเพื่อขอความร่วมมือส่งเงินพิเศษเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อลดราคาพลังงานแก่ประชาชน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่า บางจากพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่ต้องมีกฎหมาย และมาตรการต่างๆ ที่ชัดเจน สามารถตอบคำถามผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ถือหุ้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งอีกแนวทางที่จะลดต้นทุนได้ คือ รัฐควรสนับสนุนการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถผลิตได้เองในประเทศ อีกทั้งราคาเพียง 25-26 บาทต่อลิตร เทียบกับเนื้อน้ำมันเบนซิน 34-35 บาทต่อลิตร โดยเฉพาะการส่งเสริมใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ด้วยการเพิ่มส่วนต่างราคากับแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 คาดว่าจะช่วยลดราคาน้ำมันลงได้ 80 สตางค์ ถึง 1 บาทต่อลิตร

ด้านแหล่งข่าว​จากวงการพลังงานประเมินว่า หากรัฐบาลยังอุดหนุนราคาน้ำมันต่อเนื่องเช่นนี้ กองทุนมีโอกาสติดลบ 2 แสนล้านบาทในปีนี้ เพราะสถานการณ์​สงคราม “ยูเครน-รัสเซีย” ยืดเยื้อกำลังผลิตน้ำมันสำเร็จรูป​ที่รัสเซียส่งออกหายไปจากตลาดจึงเกิดการแย่งซื้อน้ำมันเพิ่มขึ้น กระทบค่าพรีเมียมสูงมากจาก 1-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็นราว 10 เหรียญ​/บาร์เรล และจะเห็นได้ว่าแม้ราคาน้ำมันดิบจะลดลงมาอยู่ราว 110 เหรียญ/บาร์เรล แต่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปยังทรงตัวถึง 160-170 เหรียญ​/บาร์เรล​ ซึ่งภาพเช่นนี้จะเห็นได้ว่าธุรกิจ​การกลั่นมีความเสี่ยงและมีโอกาสที่อาจเห็นดีเซลแตะ 200 เหรียญ​/บาร์เรล อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบ จะค่อยๆอ่อนตัวลง หากสงครามสงบ​เศรษฐกิจโลกถดถอย การผลิตน้ำมัน เริ่มกลับมา

โดยราคาน้ำมันในไทยควรเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี มีน้ำมันเพียงพอในราคาที่เหมาะสม ดีกว่าไม่มีน้ำมัน ไม่มีผู้ค้า รัฐบาลควรดำเนินการให้ถูกต้องตาม รัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่ใช้อยู่และปล่อยไปตามระบบแข่งขันเสรี กลไกนี้จะทำให้ปรับสมดุลใหม่ได้เอง ซึ่งการตั้งกองทุนน้ำมันฯนั้น ก็เพื่อใช้อุดหนุนในช่วงวิกฤติชั่วคราวหากใช้ในช่วง 1-2 เดือนแรก รัฐมาอุ้มด้วยภาษีและกองทุนไม่ผิด แต่จะอุ้มกันไปยาวๆ ไม่ได้ การใช้ของประชาชนจะไม่มีประสิทธิและวงเงินมาอุ้มจะเพิ่มขึ้นมหาศาล เมื่อกองทุนฯติดลบแล้ว ก็ไม่ควรอุดหนุนราคาอีก กลายเป็นว่าคนจนมาช่วยคนรวยและคนชั้นกลางและรัฐต้องไม่เอาหนี้สาธารณะของคนทั้งประเทศมาสนับสนุนคนใช้รถส่วนตัว ซึ่งก็คือคนชั้นกลาง และคนรวย ได้ประโยชน์บนภาระหนี้สินของประเทศ และภาระของคนไม่มีรถหลายสิบล้านคนที่ยังต้องเดิน และใช้รถระบบสาธารณ​ะ ซึ่งการที่ราคาน้ำมัน/ก๊าซหุงต้ม ที่ถูกเกินไป มีการบิดเบือนราคา จะมีการลักลอบส่งออก และทำให้ขาดดุลการค้า การชำระเงินมากขึ้น จะทำให้เกิดนิสัย ไม่ประหยัด ไม่หาวิธีอื่นๆในการดำรงชีวิต

“ต้องยอมรับ new normal ใหม่ เพราะไม่มีการลงทุนเรื่องน้ำมัน เท่าไหร่แล้ว ในโลก มีการฮั้วกัน (opec&non opec) และไทยนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดกว่า 85% คิดเป็นการใช้เพียง 1% ของโลก ไทยควบคุมราคาไม่ได้เองเพราะ fossil โดน ban ในการประชุมลดโลกเวที cop 21/cop26 บริษัทต่างๆชะลอ และเลิกลงทุนขุดเจาะและโรงกลั่น แต่ demand เพิ่มเพราะเปิดประเทศ supply short เพราะขาด supply จากรัสเซียที่ถูก ban เพราะรุกรานยูเครน” แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวระบุด้วยว่าหากบิดเบือนราคาโดยบังคับ หรือ ออกกฎหมาย เช่น ขอค่าการกลั่นจากเอกชนอาจจะผิดรัฐธรรมนูญและกระทบผู้ประกอบการ โดยไม่รู้กลไกที่แท้จริง ที่ระบบอุตส่าห์สร้างกันมากว่า 30 ปี ในขณะที่ช่วงโควิดเมื่อ 1-2 ปี ที่แล้ว ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมัน ขาดทุน 1.3 หมื่นล้านบาท ก็ไม่มีภาครัฐยื่นมือมาร่วมรับภาระ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ราคาพลังงานของไทยอยู่ในระดับต่ำเกินไป ทำให้รถติด เกิดมลพิษ pm 2.5 และไม่ประหยัดในต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรปบริหารอย่างชาญฉลาด เก็บเงินเข้ากองทุนฯ และภาษี เพื่อส่งเสริมคนใช้รถสาธารณะ และพลังงานสะอาดมากขึ้น และถึงเวลาหรือยังที่คนใช้น้ำมัน ก็ต้องจ่ายภาษี carbon tax มาแก้ปัญหา pm 2.5

Advertisement